นาย บุญไทย แก้วขันตี ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังให้ดูแลผู้ที่ขึ้นทะเบียนตามโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ จำนวนทั้งสิ้น 608,468 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 64,540 ล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้เร่งพบปะและเจรจาประนอมหนี้ให้กับผู้ขึ้นทะเบียนอย่างเต็มที่ โดยผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2553 สามารถเจรจาประนอมหนี้ได้สำเร็จจำนวน 355,797 ราย คิดเป็นร้อยละ 58.47 เจรจาไม่สำเร็จจำนวน 33,448 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.66 ซึ่งปัญหาดังกล่าวมาจากหลายสาเหตุ เช่น ผู้ขึ้นทะเบียนหรือเจ้าหนี้ไม่มาเจรจาประนอมหนี้ เจ้าหนี้ให้บุคคลอื่นมาแทน ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ เจ้าหนี้ประสงค์ในทรัพย์ของลูกหนี้ เป็นต้น ขอยุติเรื่อง จำนวน 116,030 ราย คิดเป็นร้อยละ 19.07 เนื่องจากความเข้าใจผิดคิดว่ารัฐบาลจะชำระหนี้แทน ชำระหนี้กันเสร็จสิ้นแล้ว เป็นหนี้กับญาติจึงไม่ประสงค์จะกู้ธนาคารและเป็นหนี้ในระบบอยู่แล้ว เช่น หนี้สหกรณ์ เป็นต้น และอยู่ระหว่างติดต่อขอรับผลการเจรจาประนอมหนี้จากคณะกรรมการเจรจาระดับอำเภอจำนวน 102,193 ราย คิดเป็นร้อยละ 16.80
สำหรับผู้ที่เจรจาประนอมหนี้สำเร็จและประสงค์จะกู้เงินกับ ธ.ก.ส. มีจำนวน 350,704 ราย มูลหนี้ 42,266 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ ธ.ก.ส. ได้อนุมัติเงินกู้ไปแล้ว 120,581 ราย จำนวนเงินกู้ 8,427 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ เช่น ที่มาของรายได้ ผู้ค้ำประกันและรายละเอียดด้านสัญญา เป็นต้น
ส่วนผลการดำเนินงานในกรณีที่ผู้ขึ้นทะเบียนมีภาระหนี้นอกระบบไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งธ.ก.ส. กำหนดเป้าหมายที่จะดำเนินงานให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 พฤษภาคมนั้น มีจำนวน 170,321 ราย มูลหนี้ 6,413 ล้านบาท โดยเจรจาสำเร็จ 84,915 ราย คิดเป็นร้อยละ 49.86 ซึ่งในจำนวนนี้ประสงค์กู้เงิน 81,801 ราย โดย ธ.ก.ส. อนุมัติเงินกู้แล้ว 67,001 ราย วงเงิน 3,002 ล้านบาท เจรจาไม่สำเร็จ 25,574 ราย คิดเป็นร้อยละ 15.02 ขอยุติเรื่อง 59,832 ราย คิดเป็นร้อยละ 35.12 ทั้งนี้ในกระบวนการเจรจาประนอมหนี้ ธ.ก.ส. ได้มีหนังสือเชิญลูกหนี้นัดให้พาเจ้าหนี้มาเจรจาส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับจำนวน 2 ครั้ง แต่ก็ยังไม่มาตามที่นัดหมาย ซึ่งในส่วนนี้หากมีการติดต่อภายหลัง ธ.ก.ส. จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไป
ธ.ก.ส. จะดำเนินการฟื้นฟูพัฒนาอาชีพให้กับผู้ขึ้นทะเบียนที่ได้รับการโอนหนี้เข้าสู่ระบบ เพื่อปรับทัศนคติการดำเนินชีวิตและพัฒนาความรู้ในการประกอบอาชีพให้มีความเข้มแข็งและมีรายได้ที่มั่นคง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยปัจจุบันได้ประสานงานกับเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ในการใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมฟื้นฟูจำนวน 261 ศูนย์ กระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบด้วย หลักสูตรวิถีชีวิต หลักสูตรวิถีทำกิน และการรณรงค์ให้ปลูกต้นไม้เพื่อส่งเสริมการออม เป็นต้น ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้