ก้าวที่ผ่านมาและก้าวต่อไปของ Ecolonux

พุธ ๑๖ มิถุนายน ๒๐๑๐ ๑๔:๐๖
นับตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2552 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ Ecolonux สรุปยอดการผลิตและจำหน่ายคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สของทั้ง 5 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการสูงถึง 100,930 เครื่อง ช่วยลดการละเมิดซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,719,504,000 บาท ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากโครงการพัฒนาและส่งเสริมเครือข่ายซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส “ECOLONUX”

ดร.กว้าน สีตะธนี รองศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติหรือเนคเทค กล่าวว่า โครงการ ECOLONUX ในปีแรกได้รับความร่วมมือจากกลุ่มบริษัทที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการใช้โอเพนซอร์ส ซึ่งประกอบด้วย บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) ,กลุ่มบริษัทดีคอมพิวเตอร์ , บริษัท โพเวลอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ จำกัด, บริษัท ไอทีเบเคอรี่ จำกัด และบริษัท ซินเน็ค(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) จากการเข้าร่วมโครงการในครั้งนั้น เนคเทคได้พัฒนาผู้ประกอบการทำให้มีความสามารถในการติดตั้งซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส เพื่อการจำหน่ายในปริมาณมากๆ โดยสร้างแผ่น OEM ภายในบริษัทได้ พร้อมการถ่ายทอดความรู้ในการแก้ไขปัญหาการติดตั้งใช้งาน เพื่อให้การใช้งานโอเพนซอร์สซอฟต์แวร์สู่กลุ่มผู้ใช้งานในปริมาณมาก เนคเทคมุ่งหวังให้เกิดการใช้งานซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส เพื่อลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ ส่งเสริมให้เกิดการสร้างทรัพย์สินทางปัญญา และต่อยอดการนำซอฟต์แวร์ไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม อันเป็นการสร้างความเข้มแข็งในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาธุรกิจและประเทศ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสมอย่างซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส เป็นการเปิดโอกาสหรือเพิ่มตัวเลือกให้กับผู้บริโภคให้สามารถจัดหาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่มีคุณสมบัติเทียบเคียงหรือสามารถใช้งานทดแทนซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ได้ในราคาประหยัด และขจัดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์

ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา เนคเทค ได้รับยอดการผลิตและจำหน่าย คอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ตั้งแต่ เดือนกุมภาพันธ์ 2552 — พฤษภาคม 2553ดังนี้

ยอดการติดตั้ง Ecolonux จำนวน 68,518 เครื่อง

ช่วยทดแทนการละเมิดซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์คิดเป็นมูลค่า 1,233,324,000 บาท

ยอดการติดตั้ง โอเพนซอส์ฟอร์วิน จำนวน 32,412 เครื่อง

ช่วยทดแทนการละเมิดซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์คิดเป็นมูลค่า 486,180,000 บาท

ยอดรวมติดตั้งซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส จำนวน100,930 เครื่อง

ช่วยทดแทนการละเมิดซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์คิดเป็นมูลค่า รวมทั้งสิ้น 1,719,504,000 บาท

ดร.กว้าน ได้ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงความก้าวหน้าในปีนี้ว่า ในวันนี้ได้มีการลงนามความร่วมมือภายในโครงการ ECOLONUX กับกลุ่มบริษัทในศูนย์การค้าฟอร์จูน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการด้านการผลิตและจำหน่ายคอมพิวเตอร์รายใหม่อีก 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท เจท คอมพิวเตอร์พลัส จำกัด, บริษัท ออสการ์ โฟร์สตาร์ จำกัด, บริษัท โปรคอนเนอร์ จำกัด ,บริษัท ไดมอนด์ พีเพิล จำกัด และบริษัท โน๊ตบุ๊ค โซรูชั่น จำกัด รวมบริษัทที่เข้าร่วมโครงการนี้แล้วถึง 10 บริษัท ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงความก้าวหน้าของโครงการ และการสร้างความสามารถในการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส สร้างความมั่นคงสู่การประกอบการที่เข้มแข็งของผู้ประกอบการในระยะยาวต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมการพัฒนาและส่งเสริมเครือข่ายซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส “ECOLONUX”

ดร.วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิ

ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

เบอร์โทรศัพท์ 025646900ต่อ2261 มือถือ 081-6278854 E-mail [email protected]

อรรถนิติ อัศวินนิมิตกุล นักวิเคราะห์โครงการเนคเทค

02-564-6900 ต่อ 2482

E-mail [email protected]

ข้อมูลประกอบ

ECOLONUX

“ECOLONUX” เป็นต้นแบบเชิงอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการ พัฒนาและส่งเสริมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ของห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส โดยมีเป้าหมายในการแก้ปัญหาความเข้ากันได้ของระบบปฏิบัติการลินุกซ์ และ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ที่สำคัญอีกประการคือการลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ของการใช้งานซอฟต์แวร์ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนการจำหน่ายเครื่อง จนได้รับผลกระทบทั้งชื่อเสียงของผู้ให้จำหน่าย และ ผลกระทบถึงระดับประเทศ

ดังนั้นเพื่อลดปัญหาดังกล่าว การพัฒนาซอฟต์แวร์ลินุกซ์ให้สามารถใช้งานได้ดีกับอุปกรณ์ในท้องตลาด และ ส่งเสริมความรู้ให้ผู้ค้าคอมพิวเตอร์สามารถให้บริการในทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ติดตั้งจากผู้ค้า จนถึงการบริการหลังการขาย เพื่อลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ให้การสนับสนุนทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์ และ ฝึกอบรมฝ่ายบริการ ฝ่ายเทคนิค ให้ผู้ค้า โดยในระยะยาวแล้วจะสร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ และขยายตลาดไปยังกลุ่มราชการและหน่วยงานเอกชนในที่สุด

การวิจัยพัฒนาและส่งเสริมการใช้งาทนซอต์ฟแวร์โอเพนซอร์ส

ซอต์ฟแวร์โอเพนซอร์ส หมายถึงชุดคำสั่งที่เปิดเผยซอร์สโค้ดให้ผู้ใช้งานสามารถนำไปใช้งาน ศึกษา แก้ไข หรือเผยแพร่ได้อย่างเสรี โดยผู้ใช้งานไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านลิขสิทธิ์ หรือค่า license หรือไม่ต้องเซ็นต์สัญญาพิเศษ ซอต์ฟแวร์โอเพนซอร์สถูกพัฒนาให้เป็นซอฟต์แวร์ทางเลือกสำหรับลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ ปัญหาราราคซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ที่สูงเกินความจำเป็นในการใช้งาน และปัญหาการใช้เทคโนโลยีซอฟต์แวร์ในองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องพัฒนาชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ที่มีความหลากหลาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฎิบัติงานในองค์กร โดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระทั่วโลก ได้ทำการพัฒนาซอฟต์แวร์ผ่านเครือข่ายความร่วมมืออย่างไร้พรหมแดน และใช้วิธีการเขียนซอร์สแวร์ด้วยมาตรฐานที่สากลยอมรับ ทำให้ผลงานที่ได้ที่มีประสิทธิภาพ ความปลอดภัยสูงและเป็นที่นิยมใช้งานในองค์กรที่มีศักยภาพด้านไอทีทั่วโลก จนมีผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ บางรายนำซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สไปดำเนินธุรกิจโดยไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลให้แก่ผู้ซื้อซอฟต์แวร์ใช้งานทราบ ทำให้หลายองค์กรพัฒนาต่อยอดซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สเพื่อการใช้งานอย่างกว้างขวาง ทดแทนการใช้ซอฟต์แวร์ประเภทต่างๆ อย่างได้ผล

ปริมาณการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สทั่วโลก จึงมีเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับประเทศไทย ยังมีความเข้าใจในทรัพย์สินทางปัญญา หรือกฎหมายลิขสิทธิ์ น้อยมาก รวมทั้งความไม่ชัดเจนของซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ ที่ไม่เปิดเผยข้อมูลให้ผู้ซื้อ และตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์ ทำให้ความเข้าใจในซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ของผู้ซื้อไม่ถูกต้อง ท่านทราบหรือไม่ว่าซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ ที่ถูกต้องสังเกตุอย่างไรบาง ผู้ซื้อบางรายอาจเข้าใจว่า ซื้อไมโครซอฟต์วินโดส หมายถึงแพกเกตรที่รวมการซื้อซอฟต์แวร์ไมโครซอฟต์ออฟฟิศ และ ซอฟต์แวร์อื่นๆ ด้วย ความไม่ชัดเจนของผู้แทนจำหน่ายทำให้เกิดปัญหาการละเมิดซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปี แม้จะมีการถูกตรวจสอบ ปริมาณละเมิดลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นทุกปีโดย BSA (Business Software Alliance) หลายปีแล้ว แต่ข่าวการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ด้านซอฟต์แวร์มีน้อยมาก เนื่องจากการปิดบังของผู้ละเมิดหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือทั้งสองฝ่ายยินยอมที่จะไม่เปิดเผยข้อมูล

สำหรับในภาวะวิกฤติทางด้านเศรษฐกิจที่ทั่วโลกประสบปัญหาตั้งแต่พศ. 2550 เป็นต้นมา ทำให้หลายๆ หน่วยงาน ทั้งจากภาครัฐและเอกชนเริ่มตื่นตัวหันมาใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส เพื่อทดแทนหรือเสริมซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์เดิมที่มีอยู่ มากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนลดลงหรือประหยัดค่าใช้จ่ายให้องค์กร ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในฐานะผู้ริเริ่มการวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในประเทศไทยมาตั้งแต่ปีพ.ศ 2540 และมีแผนการส่งเสริมการใช้งานตามบทบาทหน้าที่หลักได้แก่

1.การวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่เหมาะสมกับคนไทย

2.การประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนัก ให้สังคมหันมาสนใจและใช้งานซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สอย่างจริงจัง และเข้าถึงข้อมูลได้อย่างทั่วถึง

3.การพัฒนาบุคลากรด้านซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส

4.การให้คำปรึกษาในการวางแผนการปรับเปลี่ยนหน่วยงาน มาใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส

5.สร้างพันธมิตรในแต่ละภาคส่วน เพื่อความเข้มแข็งของสังคมโอเพนซอร์สในประเทศไทย

ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ที่พัฒนาโดย เนคเทค ได้แก่ LinuxTLE และ LinuxSIS ซึ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการใช้งานทดแทนซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

1.ลินุกซ์ทะเล (LinuxTLE) เป็นระบบปฏิบัติการ(OS) สำหรับคอมพิวเตอร์ใช้งานส่วนบุคคล ที่ประกอบด้วยชุดคำสั่งทางคอมพิวเตอร์ทั้งโปรแกรมประเภท สำนักงาน กราฟฟิก มัลติมีเดีย อินเทอร์เน็ต โปรแกรมอำนวยความสะดวกต่างๆ(Utility) เป็นต้น

2.ลินุกซ์ซิส (LinuxSIS) ระบบปฏิบติการ(OS) สำหรับเครื่องแม่ข่าย ใช้สำหรับงานเครือข่ายเพื่อให้บริการ Web server, Mail server, Proxy/Cache Server, DNS server, Firewall และอื่น ๆ โดยผู้ดูแลระบบสามารถจัดการบริการต่างๆ ผ่านทาง WebAdminTools ที่ใช้งานได้ง่าย

ผู้ใช้งานหรือหน่วยงานที่สนใจ สามารถดาวน์โหลด เพื่อติดตั้งใช้งาน LinuxTLE และ LinuxSIS ได้ที่ http://www.opentle.org/th/download หรือทำหนังสือเพื่อขอรับซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สและฟรีแวร์ เพื่อการใช้งานบน MS-Windows และขอทราบรายละเอียดได้ที่ 025646900 ต่อ 2258 — 2266

ปัจจุบันมีองกรณ์ต้วอย่าง หน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมถึงมูลนิธิและสมาคมต่างๆ ที่นำซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สไปใช้งาน ซึ่งได้แก่

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT)

การเคหะแห่งชาติ

สมาคมบริษัทหลักทรัพย์

บริษัท การบินไทย จำกัด (Thai Airways)

บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)

บริษัท พีทีที ไอซีที โซลูชั่นส์ จำกัด (PTT)

มูลนิธิศักดิ์พรทรัพย์

สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA)

สำนักส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจคอมพิวเตอร์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA)

หน่วยงานเหล่านี้ ได้ทำการตรวจสอบซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส และเลือกใช้งานซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมกับองค์กร เพื่อลดค่าใช้จ่ายลิขสิทธิ์ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะพัฒนาประสิทธิภาพซอต์แวร์ที่เหมาะสมสำหรับองค์กร ทำให้เกิดปริมาณนักพัฒนาต่อยอดซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สภายในประเทศ อันส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าในด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สามารถแข่งขันทางการค้า และการให้บริการ สร้างความเข้มแข็งของบุคคลากรภายในประเทศ

การใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส นอกจากช่วยลดค่าใช้จ่ายภายในประเทศ ด้านการจัดซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ได้หลายร้อยล้านบาทต่อปี หน่วยงานที่มีศักยภาพด้านไอทียังสามารถใช้เป็นฐานการพัฒนาศักยภาพ ช่วยวางแผนการปรับเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส และสภาพแวดล้อมของแต่ละหน่วยงาน เพื่อรับรองการใช้เทคโนโลยีซอฟต์แวร์ที่คุ้มค่ากับการลงทุน ลงแรง แล้วยังเพิ่มปริมาณนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อรองรับการพัฒนาสู่ความก้าวหน้าในสังคมดิจิตอล ที่ทั่วโลกวางแผนสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างไร้ขอบเขต

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ