ภญ.รศ.ธิดา นิงสานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ปัญหาสำคัญที่พบในปัจจุบันคือค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่ละปีรัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณด้านยาเป็นจำนวนมหาศาล จากข้อมูลในปี 2538-2546 พบว่าภาครัฐมีค่าใช้จ่ายด้านยาประมาณ 1 ใน 3 ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด และเพิ่มขึ้นทุกปี จนในปี 2548 คิดเป็นเกือบ 50% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด ที่มีมูลค่าถึง 200,000 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะมีการใช้ยาหลายขนานร่วมกันซึ่งส่วนหนึ่งเป็นยาต่างประเทศที่มีราคาแพง การจ่ายยาครั้งละหลายๆเดือน จากการที่เภสัชกรได้ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และจากการที่ให้ผู้ป่วยนำยากลับมาเมื่อมาพบแพทย์ทุกครั้ง รวมทั้งจากการศึกษาวิจัย พบว่ามียาเหลือใช้ในครัวเรือนจำนวนมาก สาเหตุเพราะผู้ป่วยซื้อยามาเก็บไว้แล้วไม่ได้ใช้หรือใช้ไม่หมดเพราะอาการหายไปแล้ว หรือจากการที่แพทย์เปลี่ยนการรักษามาใช้ยาตัวใหม่ ยาเดิมไม่ใช้แล้วแต่ผู้ป่วยยังมียาเหลือจำนวนมาก หรือบางครั้งผู้ป่วยปรับลดขนาดยาที่ใช้เอง หรือผู้ป่วยเสียชีวิต หรือจากการที่ผู้ป่วยใช้ยาไม่ถูกต้องหรือมีความเชื่อผิดๆ ซึ่งปัญหายาเหลือใช้ในครัวเรือนเป็นปัญหาซ่อนเร้นของระบบสุขภาพไทย ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยเงียบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย โดยเฉพาะหากมีการนำยาเหลือใช้ไปให้ผู้อื่นใช้ต่อ เพราะคนอื่นอาจแพ้ยาตัวนั้นเกิดปัญหาตามมาอีก
จากการที่เภสัชกรในโครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้เข้าเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคเรื้อรังจำนวน 700 คน ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งหมด 54 ชุมชน พบว่าผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งต้องใช้ยาหลายขนานร่วมกันในการรักษาโรคนั้น มียาเหลือใช้ในบ้านสูงถึง 3-4 เท่าของยาที่ควรมี หรือประมาณ 300-400% ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ป่วยไม่รับประทานยาตามแพทย์สั่งสูงถึง 90% และในจำนวน 90% ที่ไม่รับประทานยาตามแพทย์สั่งนั้น 25% รับประทานยาไม่สม่ำเสมอ ส่วนอีก 65% ผู้ป่วยไม่ยอมรับประทานยาเลย จึงทำให้เกิดปัญหาด้านการใช้ยาและยาเหลือใช้ตามบ้าน อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ จากผลการรักษาที่ไม่ได้ตามเป้าหมาย และภาวะโรคแทรกซ้อนอื่นที่ตามมาได้
ด้วยความตระหนักต่อความสูญเสียและความเสี่ยงดังกล่าว สภาเภสัชกรรม ร่วมกับองค์กรวิชาชีพทางเภสัชกรรมจึงเห็นพ้องกันว่า “สัปดาห์เภสัช” ครั้งที่ 11 ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่26 มิ.ย.-2 ก.ค.2553 นี้จะรณรงค์ลดยาเหลือใช้ในครัวเรือน ภายใต้คำขวัญ “รอบรู้เรื่องยา ปรึกษาเภสัชฯ ลดยาเหลือใช้ ปลอดภัย ปลอดโรค”
“ในช่วงสัปดาห์เภสัช ในระหว่างวันที่ 26 มิ.ย.-2 ก.ค. 2553 นี้ จะรณรงค์ให้ประชาชนสำรวจยาเหลือใช้ในบ้าน และวิธีการจัดการที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันจะรณรงค์ให้เกิดกิจกรรมที่เภสัชกรสถานพยาบาลและร้านยาดำเนินการติดตามการใช้ยาของผู้ป่วย และส่งเสริมให้ผู้ป่วยใช้ยาให้ถูกต้อง ด้วยการให้คำปรึกษา ค้นหาปัญหาเรื่องการใช้ยาของผู้ป่วย รวมทั้งการตรวจสอบยาที่ผู้ป่วยนำมาเมื่อมารับบริการแต่ละครั้ง นอกจากนี้ยังรณรงค์ให้ประชาชนอ่านฉลากยาให้ละเอียดก่อนใช้ยาแต่ละครั้ง เน้นให้ถามวิธีการใช้ยาที่ถูกต้องจากเภสัชกรทุกครั้ง โดยเฉพาะยาที่มีเทคนิกพิเศษในการใช้ เช่น ยาพ่นบรรเทาหรือป้องกันการจับหืด เป็นต้น กิจกรรมดังกล่าวอยากให้ทำต่อเนื่องตลอดไปเพื่อสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง เพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาอย่างปลอดภัย และเพื่อลดปัญหายาเหลือใช้จากการใช้ยาไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของสังคมไทย” ภญ.รศ.ธิดา กล่าว
สำหรับข้อแนะนำที่ทำอย่างไรจะไม่ให้มียาเหลือใช้ในบ้าน ทำได้ดังนี้
- อ่านฉลากให้ถี่ถ้วนก่อนใช้ยา ควรอ่านให้เข้าใจว่าใช้อย่างไร ต้องใช้ต่อเนื่องจนยาหมดหรือไม่ หรือใช้นานเท่าใด ยาบางชนิด เช่นยาปฏิชีวนะ ต้องกินติดต่อกันจนหมด เพื่อให้ได้ผลในการรักษา หรือยาหยอดตา เมื่อเปิดใช้แล้วเกิน 1 เดือน ให้ทิ้งไป เป็นต้น ถ้าปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลาก จะช่วยลดยาเหลือใช้
- นำยาที่เหลืออยู่ไปพบแพทย์ตามนัด หากท่านมีโรคประจำตัวหรือโรคที่ต้องใช้ยาต่อเนื่อง และต้องไปพบแพทย์ตามนัด อย่าลืมนำยาที่เหลืออยู่ไปด้วยทุกครั้งที่ไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ทราบถึงจำนวนยาที่เหลืออยู่ และสั่งจ่ายยาตามจำนวนที่หักยาเดิมให้พอถึงวันนัดครั้งต่อไป แทนที่จะสั่งยาให้ตามจำนวนวัน ซึ่งทำให้มียาเดิมเหลือค้างอยู่จำนวนหนึ่ง หากแพทย์มีการเปลี่ยนยาให้ใหม่ และท่านใช้ร่วมไปกับยาเดิม จะทำให้ได้รับยามากเกินไปจนอาจเป็นอันตราย แต่ถ้าท่านไม่ใช้ ยาเดิมนั้นก็จะเป็นยาเหลือใช้
- ไม่ควรซื้อยาบรรเทาอาการคราวละมากๆ ยาบรรเทาอาการ เช่น ลดไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้หวัด หลังจากหายแล้วถ้าเหลืออยู่ จะกลายเป็นยาเหลือใช้
สิ่งที่ไม่ควรทำ
- อย่านำยาเหลือใช้ไปให้คนอื่นใช้ ขณะเดียวกันก็อย่ากินยาที่คนอื่นให้มา เพราะอาการคล้ายกันแต่อาจไม่ใช่โรคเดียวกัน ขนาดยาก็อาจไม่เหมาะสม และอาจเกิดอาการแพ้ยาได้อีกด้วย
- อย่านำยาเหลือใช้มารวมในซองยา หรือขวดยาเดียวกัน
- อย่าแกะยาออกจากแผงหากยังไม่ใช้
- อย่าเก็บยาในตู้เย็น ยกเว้นยาที่มีฉลากระบุไว้
- อย่าเก็บยาในรถที่จอดทิ้งไว้เพราะความร้อนจะทำให้ยาเสื่อม
- อย่าหยุดยาเอง เพราะแพทย์จะเข้าใจผิดว่าอาการที่เลวลงเป็นเพราะโรค แล้วเพิ่มยาให้อีก อย่าซื้อยากินเองโดยไม่ปรึกษาเภสัชกร เพราะถ้าได้รับยาจำนวนมากจากสถานพยาบาลแล้วอาจได้รับยาซ้ำซ้อน