นายพิพัฒน์ ลาภปรารถนา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางรัก เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพื่อประชุมพิจารณางบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ของสำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร โดยมีนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารสำนัก ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 3-6 สภากรุงเทพมหานคร
เร่งเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกจิตสำนึกประชาชนแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน
ในที่ประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ ตั้งข้อสังเกตหลายประการของสำนักสิ่งแวดล้อม เช่น ควรจัดสรรงบประมาณในจัดหาพื้นที่เพื่อก่อสร้างสวนสาธารณะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพมหานคร จัดหาพื้นที่ว่างทั้งของรัฐและเอกชน โดยเน้นการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ รวมถึงการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนในการปลูกต้นไม้ เพื่อประหยัดงบประมาณ และรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนตระหนักและมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะ ใช้ถุงกระดาษแทนถุงพลาสติก รวมทั้งจิตสำนึกให้รับรู้ถึงความสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น
คัดเลือกว่าจ้างที่ปรึกษาที่มีความชำนาญและรอบรู้
นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังเสนอให้มีความรอบคอบในการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อมาดำเนินงานในโครงการต่างๆ ให้เหมาะสมและคัดเลือกบริษัทที่มีความชำนาญในโครงการนั้นจริงเพื่อประสิทธิผลในโครงการ และเป็นการไม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้งโครงการต่างๆ ที่มีการจัดกิจกรรมเพื่อการประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร ควรมีความรัดกุมในการใช้งบประมาณ หากไม่จำเป็นก็ควรตัดโครงการออกไป เพื่อนำงบประมาณไปสนับสนุนการดำเนินงานในด้านอื่นให้เกิดประโยชน์ต่อไป
แนะสำนักการระบายน้ำวางนโยบายให้ชัดเจน พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเขตรอบนอก
ทั้งการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของของสำนักการระบายน้ำ ควรพิจารณาถึงความจำเป็นก่อนหลังในการดำเนินการ เพราะการแก้ปัญหาต้องมีแนวทางที่ชัดเจนและจริงจัง รวมถึงการแก้ไขพื้นที่เขตรอบนอกจะต้องวางระบบระบายน้ำให้เหมาะสมเพื่อป้องกันความเดือดร้อนในช่วงฤดูฝน ทั้งการบำบัดน้ำเสียของโรงควบคุมคุณภาพน้ำจะต้องรักษามาตรฐานและครอบคลุมพื้นที่เพื่อความสะอาดของแม่น้ำ คู คลอง ทั้งการวางระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว มีหลายพื้นที่ยังต้องรอคอยการแก้ไขอย่างเร่งด่วน อีกทั้งการของบประมาณดำเนินโครงการจะต้องเป็นประโยชน์และสามารถแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสำนักระบายน้ำถือเป็นหัวใจสำคัญของกรุงเทพมหานครในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ทั้งนี้เงินงบประมาณนั้นเป็นภาษีของประชาชนควรนำไปใช้จ่ายให้ได้ประโยชน์สูงสุด
กำหนดแผนแก้ไขน้ำท่วมระยะยาว ควบคู่ไปกับการ ฟื้นฟูแม่น้ำและอนุรักษ์ คู คลอง
ทั้งเสนอแนะผู้บริหารควรประชุมในการวางแผนนโยบายระยะยาวเพื่อการพัฒนาในอนาคต ฟื้นฟูแม่น้ำเจ้าพระยา คู คลอง วางระบบระบายน้ำให้สามารถใช้งานได้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ทั้งควรทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงมาตรการที่กรุงเทพมหานครดำเนินการควบคู่ไปกับการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อให้ความรู้กับประชาชน นักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบการ และชุมชน ในเรื่องของปัญหามลพิษทางน้ำ เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสีย เป็นการกระตุ้นให้ชาวกรุงเทพมหานครทุกคนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของแหล่งน้ำ ตลอดทั้งให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์และแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำ ตามนโยบายในการทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น