อ.ดร.เดชรัต สุขกำเนิด กล่าวว่า หลังจากที่ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติให้มีการประเมินผลกระทบด้าสุขภาพ (HIA) ในประเทศไทย โดยมุ่งให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม ในการตัดสินใจทางนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพที่ดีต่อสุขภาวะของทุกคน ประกอบกับเรื่อง HIA ได้รับการบัญญัติไว้ในมาตรา 67 เพื่อปกป้อง คุ้มครอง สุขภาพของประชาชนจากผลกระทบทางลบที่อาจเกิดจากโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านมามีหน่วยงาน องค์กร นักวิชาการ และภาคประชาชน ได้มีประสบการณ์ในการเข้าร่วมการทำ HIA มาบ้างแล้ว ดังนั้นเวทีวันนี้จึงจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยเน้นในขั้นตอน “การกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบ (Public Scoping)” เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องให้ความเห็นว่าจะให้ศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้ครอบคลุมในทุกๆ ประเด็นที่มีความกังวลและห่วงใยว่าอาจจะเกิดผลกระทบขึ้นได้หากมีโครงการหรือกิจกรรมใดๆ เข้ามาดำเนินการ แต่ที่ผ่านมาอาจจะยังมีองค์ความรู้ในเรื่องนี้ยังไม่เพียงพอนักในสังคมไทยที่เพิ่งเริ่มมีการทำ HIA ดังนั้นคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไก HIA ซึ่งมีนายแพทย์วิพุธ พูลเจริญ เป็นประธาน ได้มอบหมายให้ทางศูนย์ประสานงานพัฒนาระบบและกลไก HIA จัดการสัมมนาวิชาการนี้ขึ้นมา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำ Public Scoping จากทั้งบริษัทที่ปรึกษา ผู้ประกอบการ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งนักวิชาการด้วย เพื่อช่วยกันสร้างองค์ความรู้ด้านนี้ให้มากขึ้น และเหมาะกับบริบทของสังคมไทย
ด้าน ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รายงานข้อเสนอเพื่อการพัฒนาระบบการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยศึกษาจากบทเรียนทั้งของไทยและต่างประเทศ การเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการทำ Public Scoping ในพื้นที่ต่างๆ พบว่า เจตนารมณ์ของการทำ Public Scoping เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสแสดงถึงความห่วงใยที่มีต่อโครงการที่เกิดขึ้น โดยช่วยกันมองอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด รวมทั้งเป็นการแสดงความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในการดำเนินโครงการที่ต้องให้เวลากับการทำ Public Scoping คำนึงถึงผู้คนหลากหลายกลุ่ม ทั้งผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ บุคลากรสาธารณสุข ประชาชนในพื้นที่ และที่สำคัญการทำเวที Public Scoping เพียงครั้งเดียวอาจไม่เพียงพอ หลายๆ โครงการในต่างประเทศจะทำจนมั่นใจว่าไม่มีประเด็นใหม่แล้ว โดยจัดกระบวนการรับฟังความเห็นหลายครั้งและทั่วถึง จึงจะลงมือศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ นอกจากนี้เจ้าของโครงการไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน จะทำงานร่วมกับชุมชนตั้งแต่เริ่มคิดโครงการ จนกระทั่งโครงการสร้างเสร็จแล้วและร่วมกันตรวจสอบผลกระทบ (Monitor) หลังจากนั้นอีก บางโครงการวางแผนการทำงานร่วมกับชุมชนยาวถึง 40 ปี ดังนั้นจะเห็นได้ว่า HIA ไม่ใช่ฉุดการพัฒนา แต่เป็นกระบวนการที่ร่วมกันพัฒนาให้โครงการหรือกิจกรรมนั้นๆ ส่งผลดีต่อสุขภาวะ
“ผมมองว่าการทำ HIA เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากจะช่วยกันดูผลกระทบอย่างรอบด้านแล้ว กระบวนการนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนวัฒนธรรมประชาธิปไตยของสังคมไทยให้ดีขึ้น เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงการหย่อนบัตรเลือกตั้งเท่านั้น ” ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ กล่าว
ประสานงาน : งานสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
พลินี เสริมสินสิริ (แตงโม) 02-590-2307
เขมวดี ขนาบแก้ว (ปูน) 02-590-2307
ธนิษฐ์ สุคนธนิกร (ต๊ะ) 02-590-2483