ภายในงานมีการเสวนา “การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียที่บ้าน” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ คุณหทัยวุฒิ ลำเทียน ผู้จัดการโครงการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พญ.มนธนา จันทรนิยม กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา และทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น
นพ.อภิชาต อภิวัฒนพร ผู้อำนวยการ รพ.สกลนคร กล่าวว่า โรคเลือดออกง่ายหยุดยาก หรือ โรคฮีโมฟีเลีย จัดเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของไทย ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนี้ โดยได้จัดสรรเงินงบประมาณสำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียให้อยู่ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า โรคฮีโมฟีเลีย เป็นโรคร้ายทางพันธุกรรมที่มีอันตรายต่อสุขภาพของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก หากได้รับการรักษาไม่ถูกวิธีและไม่ทันเวลา อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือพิการได้
ในประเทศไทยเรา คาดว่าจะมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้กว่า 4,500 ราย ซึ่งในภาคอิสานของเราพบอัตราผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่กลับพบว่าปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยที่มาลงทะเบียนรักษากับโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ยังน้อยกว่าความเป็นจริงมาก ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากศูนย์บริการรักษา ประกอบกับยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายและวิธีการรักษาโรคฮีโมฟีเลีย
การเปิดให้บริการศูนย์ตรวจรักษาผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียจังหวัดสกลนครนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียในภาคอิสานสามารถเข้าถึงการรักษาได้ครอบคลุม และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการบริการได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โดยศูนย์บริการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียโรงพยาบาลสกลนครนี้ เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะโรคฮีโมฟีเลีย โดยการสนับสนุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเป็นหน่วยบริการครบวงจร ระบบการดูแลรักษาต่อเนื่องอย่างถูกต้อง ช่วยเพิ่มความสะดวกและสามารถรองรับผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียในเขตจังหวัดสกลนคร และ นครพนม หนองคาย ซึ่งผู้ป่วยที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการมีสิทธิ์รับการรักษาด้วยแฟคเตอร์ VIII ปัจจัยที่ช่วยที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือดไปดูแลรักษาตนเองที่บ้านเมื่อมีเลือดออก ช่วยลดภาวะแทรกซ้อน และภาวะพิการได้
ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีลีย สามารถสอบถามรายละเอียดและลงทะเบียนเข้ารับการรักษาฟรีกับโครงการสปสช. ได้ที่กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โทร. 042-711 615 ต่อ 2328 (ติดต่อคุณไพลิน)