นายกิตพล เชิดชูกิจกุล ประธานสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการความร่วมมือด้านการดูแลผู้สูงอายุในสวีเดนว่า จากการที่สภากรุงเทพมหานครได้สถาปนาความสัมพันธ์สภาบ้านพี่เมืองน้องกับสภาเทศบาลรากุนด้า ราชอาณาจักรสวีเดน และทางรากุนด้า ได้แสดงเจตจำนงในการแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับสภากรุงเทพมหานคร เรื่อง การสนับสนุนแรงงานไทยไปทำงานที่สวีเดนในฐานะผู้ดูแลผู้สูงอายุนั้น เพื่อเป็นการยืนยันความร่วมมือดังกล่าว ทั้งสองสภาฯ จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ในการเดินหน้าโครงการดังกล่าวร่วมกันโดยมีการลงนามใน MOU เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ เทศบาลโซเลฟทีโอ สวีเดน
นายกิตพล กล่าวว่า โครงการสนับสนุนแรงงานไทยไปทำงานที่สวีเดนในฐานะผู้ดูแลผู้สูงอายุริเริ่มโดยสภากรุงเทพมหานคร แต่เนื่องจากสมาชิกสภากทม. กำลังจะหมดวาระในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ เพื่อให้โครงการดังกล่าวดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืน จึงได้เสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างสภากรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ของกรุงเทพมหานคร และกระทรวงแรงงาน เพื่อหาข้อสรุปในรายละเอียดโครงการ เช่น การกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะไปทำงาน การอบรมเพิ่มเติมด้านภาษา การดูแลผู้สูงอายุ และความรู้ด้านวัฒนธรรม เป็นต้น ทั้งนี้ ในเบื้องต้นทางเทศบาลรากุนด้าระบุคุณสมบัติ อายุไม่เกิน 35 ปี วุฒิการศึกษาขั้นต่ำสุดระดับมัธยมปลาย สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี และมีความรู้ด้านการดูแลผู้สูงอายุ ทดลองงาน 6 เดือน รายได้ประมาณเดือนละ 17,000 โครน หรือประมาณ 68,000 บาท
อย่างไรก็ดีเนื่องจากการส่งแรงงานไปต่างประเทศไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครโดยตรง จึงกำหนดพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อเดินหน้าโครงการร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
นายกิตพล กล่าวว่า จากการเยือนสวีเดนในครั้งนี้มีโอกาสได้เข้าเยี่ยมคารวะรองผู้ว่าราชการมณฑลแจมท์แลนด์ ซึ่งเป็นมณฑลแรกที่จะนำร่องโครงการความร่วมมือฯ ทั้งนี้รองผู้ว่าราชการมณฑลแจมท์แลนด์ได้ยืนยันถึงความยินดีในการสนับสนุนโครงการดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยให้ข้อมูลว่าในมณฑลแจมท์แลนด์มีผู้สูงอายุถึง 25% และยังมีความต้องการผู้ดูแลผู้สูงอีกจำนวนมาก ซึ่งหลังจากเตรียมส่งผู้ดูแลผู้สูงอายุไปที่รากุนด้ารอบแรก 60 คน แล้วจะขยายความร่วมมือไปยังเทศบาลอื่น เช่น ออสเตอร์ซุนด์ โซเลฟทีโอ ต่อไป ทั้งนี้ในสวีเดนมีความต้องการผู้ดูแลผุ้สูงอายุถึง 10,000 อัตรา เนื่องจากผลพวงของยุค Baby Boom หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้ปัจจุบันในราชอาณาจักรสวีเดนมีผู้สูงอายุประมาณ 20,000 คน ขณะที่มีประชากรทั้งสิ้นเพียง 9 ล้านคนเศษ มีสภาพเป็นครอบครัวเดี่ยว และขาดคนดูแลผู้สูงอายุ จึงต้องการแรงงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการดูแลผู้สูงอายุ ประกอบกับชาวสวีเดนมีความชื่นชอบประเทศไทย ชื่นชมและไว้ใจคนไทย จึงเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้เข้ามาทำงานนี้ โดยจะมีรายได้และสวัสดิการที่ดีเท่าเทียมกับพลเมืองของราชอาณาจักรสวีเดน