โครงการดังกล่าว ถือเป็นความต่อเนื่อง ของโครงการแผนที่สุขภาพ โดยเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ มาจากสถาบันการศึกษา 150 แห่ง จากทั่วประเทศ ล้วนประสบความสำเร็จ จากการสำรวจพื้นที่บริเวณรอบโรงเรียน ภายใต้แนวคิดลดพื้นเสี่ยง เพิ่มพื้นที่ดี ซึ่งมุ่งเน้นให้เยาวชนรู้จักแยกแยะว่าพื้นที่ดี และพื้นที่เสี่ยงเป็นอย่างไร ด้วยคาดหวังว่าเด็กๆในแต่ละพื้นที่ จะมีส่วนชี้นำปัญหาที่เกิดขึ้น และมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหากับคนชุมชน หรือหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
งานนี้นอกจากจะเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างเยาวชน ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องในการทำงานแล้ว ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชน ผ่านการจัด work shop ในหัวข้อต่างๆ เช่น การผลิตสื่อโทรทัศน์ขั้นพื้นฐาน , พลังชุมชนในโลกFace Book, ฝึกสมองให้มีความจำเป็นเลิศด้วย Brain Base Leaning, ร้องรำทำเพลงเรื่องเล่าจากคนธรรมดา
นอกจากนี้ก็ยังมีผลงานของนักเรียนจากภาคต่างๆ ที่ต้องการประกาศให้สาธารณะชนได้รู้ว่า เด็กก็สามารถทำงานใหญ่ได้ โดยมีแผนที่สุขภาพ เป็นเครื่องมือ
นายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช ที่ปรึกษากรรมการบริหารแผนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ผู้จุดประกายโครงการ “นักสำรวจ แผนที่สุขภาพฯ พลังเยาวชน สร้างสรรค์สังคม” กล่าวถึงโครงการนี้ว่า อยากเห็นคนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสุขภาวะที่ดีทั้งทางกาย จิตใจ และปัญญา และเป็นผู้มีความรอบรู้ รู้จักผิดชอบชั่วดี จึงได้มีการสนับสนุนให้เกิดโครงการทำความดีเพื่อสังคมไทยขึ้น โดยการส่งเสริมให้เยาวชนซึ่งเป็นตัวแทนจากโรงเรียนต่างๆ เข้ามาเป็นแกนนำหลัก เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ ที่สำคัญยังช่วยเพิ่มพื้นที่ดี ลดพื้นที่เสี่ยงให้กับโรงเรียนและชุมชนของตนเองอีกด้วย
ด้านนางสาวดารณี เวณุจันทร์ ประธานโครงการแผนที่สุขภาพ จากสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิดพลังเยาวชนเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาบ้านเกิด ด้วยจิตสำนึกท้องถิ่น และยืนหยัดอยู่ในชุมชนอย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรีทั้งในทางเศรษฐกิจ และได้รับการยอมรับจากสังคม ผ่านการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพ โดยใช้แผนที่สุขภาพเป็นเครื่องมือ เพื่อสะท้อนภาพเล็กๆ ในแต่ละชุมชนที่พวกเราผู้ใหญ่ทุกคนน่าจะให้ความสนใจในการสร้างชุมชนที่เหมาะสม”
สำหรับกิจกรรมที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือ การส่งมอบข้อเสนอ “คนธรรมดาทำงานใหญ่ได้ ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่” โดยข้อเสนอดังกล่าว เกิดจากการระดมความคิดเห็นของเด็กๆทุกคน ที่มาร่วมงาน โดยมอบหมายให้ ด.ญ.อาภรณ์ อาจวิชัย นักเรียนชั้นม.2 โรงเรียนคำชะอีวิทยาคาร จ.มุกดาหาร เป็นตัวแทนในการส่งมอบ ให้กับ ดร.ปัญญา แก้วกียูร ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
โดยน้องอาภรณ์ ได้กล่าวสรุปข้อเสนอที่ได้รับบนเวที ดังนี้“ด้วยพลังเล็กๆ ของพวกเราทุกคน มีความมุ่งมั่น ต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ จึงร่วมกันผูกจิต คิดค้นแนวทาง ที่เรียกว่า“กะจิ้ดริดอาสา พัฒนาประเทศชาติ” ขึ้นมา เพื่อเป็นแรงหนุนส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ แบ่งออกเป็นหัวข้อสำคัญดังนี้
ข้อ 1. ขอร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิด “ร่มรื่นชื่นใจไทยสีเขียว” โดยจะนำผลสำรวจ ที่เห็นว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงปรับปรุงให้เป็นพื้นที่ดี และจะปรับปรุงสวนสาธารณะใกล้บ้านให้เป็นพื้นที่สีเขียวตลอดไป
ข้อ 2. จากความรู้ที่ผ่านการฝึกฝน ช่วยเป็นเข็มทิศชี้นำสร้างสำนึกร่วมกันโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วย ภายใต้แนวคิด “เทคโนโลยีก้าวไกล ความเป็นไทยคงอยู่” ซึ่งเราเชื่อว่า ด้วยพลังของคนธรรมดาอย่างเราที่ทำจริง ปฏิบัติจริง จะสร้างแรงบันดาลใจให้เพื่อนๆในวัยเดียวกัน เห็นความสำคัญของการใช้ชีวิตที่ถูกครรลองคลองธรรม
ข้อ 3. ขอผนึกกำลังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประเทศไทย ให้เป็นปึกแผ่น ด้วยแนวคิด “สานสายใยรวมใจไทย 4 ภาค” เพราะตลอดระยะเวลาที่เราเป็นส่วนหนึ่งของนักสำรวจแผนที่สุขภาพ เราได้ตระหนักถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันตลอดเวลา หากทุกคนในประเทศมีความสามัคคีปรองดองกันอย่างที่พวกเราเป็น เชื่อว่าประเทศไทยจะน่าอยู่ ซึ่งเราชาวแผนที่สุขภาพก็ขออาสาร่วมผลักดันให้เป็นจริงในเร็ววัน
“แนวคิดที่เสนอต่อท่านในวันนี้ แม้จะมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่อย่างน้อยก็เป็นพันธะสัญญาที่มีต่อพวกเราเองว่า หากต้องการจะสร้างสังคมให้น่าอยู่ ทุกคนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ผลักดันในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะพวกเราเองที่จะขอทำงานหนัก เพื่อสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่อย่างที่ควรจะเป็น” ตัวแทนจากเยาวชนนักสำรวจแผนที่สุขภาพฯ กล่าวทิ้งท้าย