วินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการของ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด และนักวิเคราะห์อาวุโสในส่วนสถาบันการเงินของฟิทช์ ให้ความเห็นว่า “ความเสี่ยงในด้านของผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองและสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงอ่อนแอ อาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน การขยายสินเชื่อ และคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ไทยในระยะปานกลาง อย่างไรก็ตามเงินกองทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่งของธนาคารพาณิชย์ไทย น่าจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง สามารถรักษาผลการดำเนินงานโดยรวมในปี 2553 ให้อยู่ในระดับที่ดีได้”
มร. มิลตัน ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ เช่น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL (‘BBB+’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB (‘BBB+’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK (‘BBB+’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) น่าจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าธนาคารพาณิชย์อื่น นอกจากนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY (‘BBB’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) มีผลการดำเนินงานที่อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเช่นกัน ในขณะที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB (‘BBB-’/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) ยังคงมีผลการดำเนินงานที่อ่อนแอกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานของ TMB ได้เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นและคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2553”
จากรายงานฉบับพิเศษเรื่อง “Thai Banks: 2009 and Q110 Review and Outlook — Resilient, But Risks to Outlook Remain” กล่าวไว้ว่า แม้แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะปรับตัวดีขึ้น แต่สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมคาดว่าจะยังคงอ่อนแอ อีกทั้งความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ โดยเฉพาะความเสี่ยงในธุรกิจกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมค้าปลีก และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค น่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการหยุดชะงักในการประกอบธุรกิจของอุตสาหกรรมดังกล่าวที่เกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้น ฟิทช์คาดว่าสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษอาจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษนั้นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากมาตั้งแต่ปี 2551 จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าว สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารพาณิชย์ไทยอาจเพิ่มขึ้นในปี 2553 อย่างไรก็ตามเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 12% และ 16% ตามลำดับ น่าจะแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงดังกล่าวได้ ในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 อาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ฟิทช์คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงเติบโตขึ้นเล็กน้อยในปี 2553 ทั้งนี้ฟิทช์ได้ประมาณการณ์อัตราการเติบโตของ GDP ปี 2553 ไว้ที่ 3.8%
ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 แต่ฟิทช์คาดว่าผลการดำเนินงานอาจอ่อนแอลงในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 หลังการประกาศผลการดำเนินงานในเดือนกรกฎาคม กำไรสุทธิรวมของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ทั้ง 7 แห่ง (BBL, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (‘BBB’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ), SCB, KBANK, BAY, TMB และ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) (‘BB’/เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นบวก)) ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 24.1 พันล้านบาท ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 (เพิ่มขึ้น 26.5% จากไตรมาสที่ 1 ปี 2552) โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงและกำไรจากเงินลงทุนและรายได้จากค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น อัตราส่วนกำไรดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) และอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์ (ROA) ทรงตัวอยู่ในระดับ 3.5% และ 1.2% ตามลำดับ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 (2552: 3.4% และ 1.1%) คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารทั้ง 7 แห่ง ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิมในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 โดยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวมที่ 352.1 พันล้านบาท หรือ 6.5% ของสินเชื่อรวม อย่างไรก็ตามสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อาจเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2553 หากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังคงอ่อนแอ
การเปิดเผยข้อมูล: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (ซึ่งธนาคารกสิกรไทยถือหุ้น 100%) ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (ซึ่งธนาคารกสิกรไทยถือหุ้นทางตรงและทางอ้อมรวม 38.3%) ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด ซึ่งถูกถือหุ้น 100% โดย บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัด แห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับเครดิตที่จัดโดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตหาได้ที่ www.fitchratings.com ในการจัดอันดับเครดิตของบริษัทฯ นี้ ฟิทช์ได้ใช้หลักเกณฑ์ตาม Global Financial Institution Criteria ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552 และ National Ratings-Methodology Update ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549
ติดต่อ
พชร ศรายุทธ; นฤมล ชาญชนะวิวัฒน์; Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4755
หมายเหตุ: การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำและเมื่อมีความต้องการใช้อันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้ที่ www.fitchratings.com
การใช้อันดับเครดิตที่จัดทำโดยฟิทช์เรทติ้งส์มีข้อจำกัดและขอบเขตการใช้ ซึ่งข้อจำกัดและขอบเขตของการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวสามารถหาได้จาก HTTP://FITCHRATINGS.COM/UNDERSTANDINGCREDITRATINGS นอกจากนี้คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฎข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน