สำหรับกระบวนการจัดทำกรอบนโยบาย ICT 2020 นั้น นอกเหนือจากการศึกษาวิเคราะห์ในทางวิชาการแล้ว ยังมุ่งเน้นให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด โดยได้จัดให้มีการประชุมหารือในเวทีต่างๆ มาโดยตลอด อาทิ การประชุมระดมความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญระดับสูงชุดที่ 1 ใน 6 กลุ่มสาขา ได้แก่ กลุ่มเศรษฐกิจ กลุ่มสังคม กลุ่มการเมืองการปกครองการบริหารราชการแผ่นดิน กลุ่มการศึกษา กลุ่มสิ่งแวดล้อมและพลังงาน โดยระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง “อนาคตของประเทศไทยในปี 2020 กับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT 2020)” และการประชุมระดมความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญระดับสูงชุดที่ 2 ในเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปี 2020 : นัยต่อการพัฒนาประเทศไทย”
นอกจากนี้ยังมีการประชุมผู้เชี่ยวชาญระดับสูงชุดที่ 3 ในประเด็นท้าทายต่อการขับเคลื่อน ICT ของประเทศไทยในระยะ 10 ปี (Grand Challenges Thematic Session) โดยแบ่งเป็น 5 ประเด็นหลัก คือ ทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ICT ไทย ภายใต้บริบทการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (อาเซียน) : ICT Industry and Regionalization การพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร : People Empowerment เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเพิ่มผลผลิต : ICT for Productivity การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการบริการทางสังคม : Social Services และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร : Infrastructure Development
พร้อมกันนี้ คณะทำงานจัดทำกรอบนโยบาย ICT 2020 ยังได้ดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการจัดทำกรอบนโยบาย ICT 2020 เพิ่มเติม คือ การประชุมคณะทำงานฯ ที่เกี่ยวกับการศึกษานโยบาย ICT ระดับมหภาคของประเทศต่างๆ 10 ประเทศ และนโยบายเฉพาะด้าน เช่น นโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม การประชุมคณะทำงานฯ ที่เกี่ยวกับการศึกษาสถานภาพการพัฒนา ICT ของประเทศไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศผ่านทางดัชนีชี้วัดต่างๆ และการทบทวนการประเมินผลการดำเนินงานตามกรอบนโยบาย IT 2010
“ขณะนี้กระทรวงฯ และเนคเทค ได้จัดทำ (ร่าง) กรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระยะ พ.ศ. 2554-2563 ของประเทศไทย (ICT 2020) เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีข้อมูลเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ เป้าหมายรวมของแผน รวมถึงยุทธศาสตร์การพัฒนา มาตรการ/แผนงาน รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบ และเห็นควรให้มีการนำเสนอ (ร่าง) กรอบนโยบายฯ ดังกล่าว เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีส่วนขับเคลื่อนการพัฒนา ICT โดยตรง หรือ stakeholders ด้วย” นายสือ กล่าว
ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้จัดการประชุมระดมความคิดเห็นต่อ (ร่าง) กรอบนโยบาย ICT 2020 ในภาพรวม และต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาตาม (ร่าง) กรอบนโยบายฯ 7 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ยุทธศาสตร์ “ICT เพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม” 2.ยุทธศาสตร์ “การใช้ ICTเพื่อการบริการภาครัฐ 3.ยุทธศาสตร์ “การใช้ ICT เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม” 4.ยุทธศาสตร์ “การพัฒนาอุตสาหกรรม ICT” 5.ยุทธศาสตร์ “การพัฒนาทุนมนุษย์ด้วย ICT“ 6.ยุทธศาสตร์ “การใช้ ICT เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ” และ 7.ยุทธศาสตร์ “การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ”
โดยกระทรวงฯ จะได้จัดการประชุมระดมความคิดเห็นต่อยุทธศาสตร์ดังกล่าวจำนวนทั้งหมด 7 ครั้ง ตลอดเดือนกรกฎาคม 2553 นี้ เพื่อนำเสนอแนวคิดและสาระสำคัญของ (ร่าง) กรอบนโยบาย ICT 2020 ในภาพรวม และยุทธศาสตร์ทั้ง 7 รวมทั้งเพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) กรอบนโยบาย ICT 2020 ในภาพรวม และต่อ 7 ยุทธศาสตร์ ตลอดจนเพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะต่อแนวทางในการขับเคลื่อนกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมทั้งในรูปแบบของมาตรการ และโครงการนำร่อง ทั้งนี้ เพื่อนำความคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมมาใช้ปรับปรุง (ร่าง) กรอบนโยบายฯ ให้มีความถูกต้อง เหมาะสม ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
“นอกจากนี้ คณะทำงานจัดทำกรอบนโยบายฯ ยังจะจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทิศทางการพัฒนา ICT ของประเทศไทยในระยะเวลา 10 ปี ต่อสาธารณะทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) กรอบนโยบาย ICT 2020 โดยจะนำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่ได้มาปรับปรุงตัวร่าง และจัดทำกรอบนโยบายฉบับสมบูรณ์ต่อไป” นายสือ กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021416747 MICT