ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และกรรมการที่ปรึกษาโครงการพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง ว่า ขณะนี้คณะกรรมการได้มีข้อสรุปเรื่องนี้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วในการจัดทำหลักสูตรที่จะจัดการสอนเรื่องความเป็นประชาธิปไตยและสร้างความเป็นพลเมือง
"คณะกรรมการตกลงกันว่าจะฝึกฝนวิทยากรเพื่อมาสอนเรื่องความเป็นประชาธิปไตยและความเป็นพลเมืองก่อน เริ่มต้นฝึกครูผู้สอน โดยให้สถาบันพระปกเกล้าและวิทยากรครูที่เคยผ่านการอบรมมาแล้วกว่า 300 คนที่เป็นครูต้นแบบ สำหรับรายละเอียดในการดำเนินการจากนี้นั้นต้องติดตามจาก รศ.ดร.ธงทอง จันทรางศุ เลาขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะประธานโครงการฯ ว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ขณะเดียวกันนายชินวรณ์ บุญยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็พยายามให้มีการสอนเรื่องนี้ให้ทันในภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษานี้"
กรณีการจัดการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองนี้จะแตกต่างจากวิชาหน้าที่พลเมืองเดิมอย่างไรบ้าง ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวว่า โครงการสร้างสำนึกพลเมืองนี้จะไม่มีการบรรยาย จะเน้นการนำครูผู้สอนที่ผ่านการอบรมในด้านนี้ให้ลงไปชวนนักเรียนในทุกพื้นที่ทำกิจกรรม แก้ปัญหาของโรงเรียนและชุมชน ซึ่งเป็นการลงมือปฏิบัติในการทำนโยบายสาธารณะอย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นการปัดฝุ่นวิชาหน้าที่พลเมือง
ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า พอผ่านกระบวนการแล้ว ไม่ต้องสอนเลยว่าประชาธิปไตยคืออะไร เพราะทุกคนจะได้จากการเรียนรู้ ทุกคนจะรู้ว่าการยกมือโหวตเพื่อหาทางออกนั้นไม่ใช่วิธีการที่ดี หากต้องคุยกันด้วยเหตุผล การพูดคนเดียวไม่ได้ หากต้องฟังคนอื่นพูดด้วย และการหาข้อมูลนั้นต้องหาให้รอบด้านถามประชาชน จนขั้นปฏิบัติก็จะลงมือคนเดียวไม่ได้ต้องอาศัยความร่วมจากอบต. อบจ.พระ ชุมชน ฯลฯ ช่วย ทั้งหมดนี้จะอยู่ในโครงการ
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวอีกว่า สถาบันพระปกเกล้าพร้อมในการช่วยเรื่องหลักสูตรการสอน รวมถึงการอบรมวิทยากรผู้สอน และล่าสุดกำลังปรับปรุงหลักสูตรผู้นำการเมืองยุคใหม่ โดยจะนำเยาวชนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปมาร่วมศึกษาเรียนรู้ การเมืองในระบอบประชาธิปไตยกับกลุ่มผู้นำการเมืองหรือผู้ใหญ่ที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี ให้ได้เรียนรู้เรื่องนี้ร่วมกัน ซึ่งโครงการนี้มีรศ.วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้ดูแล
เมื่อถามถึงกรณีพื้นที่สีต่างๆ ทั่วประเทศที่มีระดับความเข้มและรุนแรงต่างกันในความขัดแย้งขณะนี้ จะมีวิธีการนำโครงการสอนนี้เข้าไปปลูกฝังเด็กเยาวชน และประชาชนได้อย่างไรนั้น ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการและทางสกศ.ว่าจะทำอย่างไรต่อไป พร้อมแสดงความเป็นห่วงเรื่องของโรงเรียนแกนนำผู้ปฏิบัติงานนปช.
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงบทบาทเยาวชนไทยกับสถานการณ์บ้านเมืองว่า สถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันต่างจากยุคเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ที่นิสิตนักศึกษามีความขัดแย้งในเชิงอุดมการณ์จึงออกมาแสดงพลังเรียกร้อง ขณะที่วันนี้นิสิตนักศึกษาเงียบมาก ไม่ลุกขึ้นมาใส่ใจบ้านเมือง ซึ่งหากปล่อยให้เปิดบ้านเมืองเป็นเช่นนี้ต่อไปจะมีปัญหาหนัก เนื่องจากเยาวชนยุคใหม่จะต้องร่วมรับรู้และแบกภาระชาติไว้อย่างน้อยต่อไปอีก 50 ปี
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย www.thaireform.in.th