เรื่องแรก คือ การช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้คนพิการ และอาสาสมัครสาธารณสุข ที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งพบปัญหาการได้รับเงินล่าช้า โดยเฉพาะในช่วงต้นปีงบประมาณ และการจ่ายเงินผ่าน กรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่นก่อนก็ต้องใช้เวลาในการดำเนินการเพิ่มขึ้นอีก การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ โดยการจ่ายเงินตรงเข้าบัญชีของผู้สูงอายุ ผู้พิการ และอสม. ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติของกรมบัญชีกลางอยู่แล้ว ในการจ่ายเงินตรงให้ผู้มีสิทธิ ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และ อสม. ในฐานะผู้มีสิทธิ จำนวนกว่า 7.4 ล้านคน ได้รับเงินเข้าบัญชีโดยตรง จากเงินงบประมาณปีละ 30,000 ล้านบาท
เรื่องที่สอง คือ การจ่ายตรงเงินอุดหนุนทั่วไปให้แก่ อปท. ได้กำชับให้กรมบัญชีกลางเร่งดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างระบบ e-LAAS (Electronic Local Administrative System) ของ อปท. กับระบบ GFMIS (Government Fiscal Management Information System) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 ให้ครอบคลุม อปท. ประมาณ 8,000 แห่งทั่วประเทศภายในปีงบประมาณ 2554
เรื่องที่สาม คือ ระบบสวัสดิการของบุคลากรภาครัฐและคนในครอบครัว เช่น การศึกษาบุตร ค่ารักษาพยาบาล ให้แนวปฏิบัติโดยให้ยึดหลักการว่า ต้องไม่ลิดรอนสิทธิของบุคลากรภาครัฐที่ได้รับอยู่เดิม โดยเฉพาะเรื่องการรักษาพยาบาล ให้เน้นเรื่องคุณภาพการได้รับการรักษาพยาบาล และการใช้ยาตามความเหมาะสมกับโรค และดำเนินการอย่างเป็นระบบไปพร้อม ๆ กันกับการตรวจสอบ (Medical Audit)
การประหยัดงบประมาณเพียงอย่างเดียว หรือการคอยจับทุจริตไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง แต่ควรเป็นการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับรักษาพยาบาล เรื่องนี้ กรมบัญชีกลางและกระทรวงสาธารณสุขต้องร่วมมือกันสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชน และมีระบบ การสร้างเสริมสุขภาพให้มากยิ่งขึ้น ถ้าสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบ คุณภาพชีวิติก็จะดี และยังสามารถควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้
เรื่องที่สี่ คือ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ในเบื้องต้นได้เร่งรัดให้กรมบัญชีกลางดำเนินการผ่อนคลายประเด็นปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) โดยสามารถให้ส่วนราชการกลับไปใช้ วิธีการเดิมตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ปี 2535 แต่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบก่อนให้แน่ชัดว่า ไม่สามารถดำเนินการ Auction ได้จริง คือ
- ต้องเป็นพัสดุที่ไม่มีการแข่งขัน หรือมีการแข่งขันน้อยราย
- เป็นพัสดุที่มีความซับซ้อนหรือเทคนิคเฉพาะสินค้านั้น
- สินค้าและบริการประเภท ระบบ IT ที่มี Hardware หรือ Software ที่มีลักษณะเฉพาะ
- เป็นพัสดุที่มีราคาผันผวนตามราคาตลาดโลกสูงหรือไม่
โดยเรื่องนี้ทางกรมบัญชีกลางต้องนำเสนอให้ กวพ.อ. พิจารณาและออกเป็นกฎกระทรวง เพื่อแจ้งเวียนให้ถือปฏิบัติต่อไป
สำหรับภาพรวมของระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จะส่งเสริมการดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยง ในการประพฤติมิชอบในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงาน เรียกว่า ระบบ e-Government Procurement : e-GP
สุดท้าย ในโอกาสที่กรมบัญชีกลางจะครบวันสถาปนา 120 ปี ในวันที่ 7 ตุลาคม 2553 นี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะให้นโยบายต่อกรมบัญชีกลาง คือ ให้คงยึดมั่นต่อภารกิจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ ในการดูแลเงินของแผ่นดิน เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนอย่างสูงสุด