นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง แถลงต่อสื่อมวลชน ว่า การจัดงานเสวนาในวันนี้ เนื่องโนโอกาสที่กรมบัญชีกลางจะครบ 120 ปี ในวันที่ 7 ตุลาคม 2553 โดยมีสโลแกน คือ “120 ปี กรมบัญชีกลาง บริหารการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด” และมีการจัดกิจกรรมหลายอย่าง ได้แก่ การสร้างพระพุทธรูป “พระพุทธสิตธัตถศาสดา” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำกรมบัญชีกลาง เพื่อประดิษฐาน ณ สำนักงานคลังเขตทั้ง 9 เขตทั่วประเทศ และให้บุคลากรได้เช่าบูชา งานทำบุญเลี้ยงพระ การจัดทำตราไปรษณียากร เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก หนังสือที่ระลึกครบรอบ 120 ปี การจัดกิจกรรมเดิน-วิ่งมินิมาราธอน ครั้งที่ 10 ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี ณ กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 10 ตุลาคม 2553 การออกร้านจำหน่วยสินค้า OTOP การจัดกีฬาสีภายในเพื่อสร้างความสามัคคี และงานเสวนาวันนี้เป็นกิจกรรมแรกที่จัดขึ้นในโอกาส 120 ปี และจะมีการจัดอีกครั้งในวันที่ 10 กันยายน 2553 โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานด้วย
งานเสวนาทางวิชาการ 120 ปี กรมบัญชีกลาง วันนี้ ได้รับเกียรติจากอดีตผู้บริหารหลายท่าน มาร่วมงาน เพื่อเล่าถึงประวัติความเป็นมาของกรมบัญชีกลาง ในอดีต ความสำคัญของการเป็นกรมที่มีภารกิจที่สำคัญของประเทศอยู่ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเพื่อทำหน้าที่ดูแลทรัพย์ของแผ่นดินในสมัยก่อน และการก้าวล่วงมาจนถึงปัจจุบัน กับภารกิจที่ยังคงดูแลการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการพัฒนาทั้งระบบการทำงาน พัฒนาบุคลากร และการก้าวตามเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาอย่างไม่หยุดนิ่ง และก้าวต่อไปอย่างยืนหยัด และยึดมั่นเพื่อพัฒนาระบบการทำงานให้เป็นกลไกสำคัญผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศมีความมั่นคงอย่างยั่งยืนและมีความโปร่งใส พร้อมให้สาธารณชนตรวจสอบได้
ในโอกาสที่ครบ 120 ปี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 นี้ กรมบัญชีกลางได้จัดทำแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการเงินภาครัฐ (Improving the Efficiency of Public Financial Management Master Plan) เป็นแนวทางการดำเนินงาน โดยกรอบแนวคิดการทำแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการเงินภาครัฐ คือ การปรับปรุงงานที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบ และงานด้านอื่นๆ เพื่อยกระดับให้ดีขึ้น และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยกำหนดเป็น 3 ยุทธศาสตร์คือ
- ปรับปรุงและพัฒนางาน ( Development )
- เสริมสร้างธรรมาภิบาล ( Governance)
- ผ่อนคลาย กฎ ระเบียบ (Deregulation)
โดยนำมาเชื่อมโยงกับพันธกิจของกรมในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านการกำกับดูแลด้านการเงินภาครัฐ (Regulator) ด้านการให้บริการ (Service Provider) รวม 13 ภารกิจ เช่น ด้านกฎหมายและระเบียบการคลัง ด้านการจัดซื้อจัดจ้าง ด้านการบัญชี ด้านการตรวจสอบภาครัฐ ด้านละเมิดและแพ่ง ด้านการรัฐ-จ่ายเงินภาครัฐ การบริหารการจ่ายเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) เป็นต้น โดย
- เริ่มต้นที่การมอบอำนาจ (Delegate Empower Network) ผ่อนคลายความเข้มงวดของกฎระเบียบต่าง ๆ (Deregulation) โดยให้ส่วนราชการสามารถตัดสินใจในการบริหารงานได้อย่างสะดวก คล่องตัว
- กรมบัญชีกลางปรับเปลี่ยนบทบาทมาทำหน้าที่ในการ่ส่งเสริมให้ส่วนราชการใช้กฎระเบียบได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น มีระบบประเมิน และการประกันคุณภาพให้แก่ส่วนราชการ (Fiscal Program ISO) เป็นการตรวจสุขภาพทางการคลัง เพื่อแสดงว่าส่วนราชการสามารถบริหารใช้จ่ายเงินได้ในระดับดี ก็ควรจะกระจายอำนาจ และผ่อนคลายกฎระเบียบเพิ่มขึ้นต่อไป
- ปรับปรุงและพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (Development Process) โดยการลดขั้นตอนการอนุมัติอนุญาต เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ปรับปรุงพัฒนาระบบสารสนเทศให้มากยิ่งขึ้น และเสริมงานด้านบริการให้ทันสมัย เป็น e-service สร้างแหล่งข้อมูลหรือฐานข้อมูล ให้ครอบคลุมทุกเรื่อง โดยให้ผู้ใช้งานได้โดยสะดวกและตลอดเวลา
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ กล่าวต่อท้ายว่า ผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานตามแผ่นแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการเงินภาครัฐ ดังกล่าว จะทำให้กลไกการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ เป็นไปอย่างมีระบบ มีประสิทธิภาพ โดยเชื่อมั่นได้ว่า การดำเนินงานของกรมบัญชีกลางถือเป็นกลไกสำคัญของประเทศที่ทำให้การปฏิบัติงานภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง