นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สังคมไทยทุกวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นผลมาจากความเจริญทางด้านวัตถุและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่หลั่งไหลมาตามกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้ผู้คนในสังคมเกิดความอ่อนไหวและขาดความมั่นคงทางความคิด นำไปสู่ความขัดแย้งที่ขยายไปในวงกว้าง รัฐบาลมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะดำเนินการทุกนโยบายเพื่อนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าบนพื้นฐานของความอยู่ดีมีสุขของประชาชน โดยได้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ ในการก้าวเดินไปสู่ “สังคมสวัสดิการ” หรือ “รัฐสวัสดิการ” เพื่อนำสังคมไปสู่ความสงบสุข ความรักใคร่ ปรองดองสามัคคี ซึ่งแนวทางในการพัฒนาหรือยุทธศาสตร์สำคัญที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมายดังกล่าว ทุกภาคส่วนของสังคมจะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ร่วมกันปฏิรูป และก้าวผ่านวิกฤตต่างๆ ทางสังคมปัจจุบัน โดยที่กลไกภาคประชาสังคมและงานสวัสดิการชุมชน จะต้องมีความเข้มแข็ง และเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนและปฏิรูปสังคมร่วมกัน
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้ มีขึ้นระหว่างวันที่ ๘ - ๙ กรกฎาคม ๕๓ โดยจัดขึ้นตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๓ เมื่อวันที่๒๘ มิถุนายน ๕๓ การสัมมนาประกอบด้วยการบรรยายพิเศษโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์จากสาขาภาคประชาสังคม และการประชุมกลุ่มย่อย เพื่อสังเคราะห์และบูรณาการความคิดเห็นตลอดจนการกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานและประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการเสริมสร้างประชาสังคม ผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย คณะกรรมการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สถาบันการศึกษา องค์กรเอกชน องค์กรธุรกิจ องค์กรชุมชน องค์กรเครือข่ายอาสาสมัคร และหน่วยงานส่วนท้องถิ่น จำนวน ๑๐๐ คน เพื่อมีส่วนร่วมในการกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงาน แนวทางในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนาสังคมไทย
“ รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี ๒๕๖๐ จะผลักดันการจัดสวัสดิการสังคมให้เกิดเป็นรูปแบบรัฐสวัสดิการ โดยภาครัฐจะเข้าไปดูแลกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้พิการ ให้รับสิทธิขั้นพื้นฐานครบถ้วนทุกคน และคนไทยทุกคนจะต้องได้รับสวัสดิการอย่างทั่วถึง” นายอิสสระ กล่าว
ด้านนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม กล่าวว่า ประชาสังคม คือ การทำกิจกรรมของคนในสังคมที่ดีและสร้างสรรค์ ภาคประชาชนจึงเป็นส่วนสำคัญ ที่จะเป็นพลังในการสร้างสรรค์สังคมได้ โดยทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และสื่อ รวมทั้งเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น ต้องมาร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูปสังคม เพื่อให้ภาคประชาสังคมเกิดความเข้มแข็ง โดยเริ่มจากในระดับจังหวัดเป็นเครือข่ายพหุภาคี ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาภายในจังหวัด และโยงใยไปสู่การพัฒนาในระดับชาติ เพื่อสร้างความปรองดองและความสงบสุขให้เกิดขึ้นในสังคม