นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน 14 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 62,578.6 ล้านบาท โดยกลุ่มพลังงานทดแทน อาทิ ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าชธรรมชาติ ลม แสงอาทิตย์ ได้รับส่งเสริมการลงทุน 4 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 20,586 ล้านบาท โดยกิจการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ประกอบด้วย
1.บริษัท อีเทอเนิล เอนเนอยี จำกัด ( มหาชน ) ขยายกิจการผลิตเอทานอล ( 99.5% )จากมันสำปะหลัง กำลังการผลิต 214,500,000 ลิตร ต่อปี หรือ 650,000 ลิตรต่อวัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,318 ล้านบาท
2.บริษัท ซูมิโตโม รับเบอร์ ( ไทยแลนด์ ) จำกัด ขยายกิจการผลิตยางรถยนต์เรเดียล สำหรับยางรถยนต์ทั่วไป ( Passenger car ) และรถบรรทุกเล็ก ( Light truck ) โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดด้วยวิธีการพันหน้ายาง 2 ชั้น เพื่อให้ได้หน้ายางที่เรียบและเกาะถนนมากขึ้น กำลังการผลิต 700,000 เส้นต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,741.1 ล้านบาท
3.บริษัทซูมิโตโม รับเบอร์ ( ไทยแลนด์ ) จำกัด ขยายกิจการผลิตยางรถยนต์เรเดียล สำหรับยางรถยนต์ทั่วไป ( Passenger car ) และรถบรรทุกเล็ก ( Light truck ) โดยใช้เทคโนโลยีที่ผลิตอยู่เดิม กำลังการผลิต 1,837,500 เส้นต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,684 ล้านบาท
4. บริษัท โออิชิ เทรดดิ้ง จำกัด ขยายกิจการผลิตน้ำพืช ผัก ผลไม้ บรรจุภาชนะผนึก กำลังการผลิต 150 ล้านลิตรต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 930 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายผลิตน้ำชาบรรจุภาชนะผนึก และคาดว่าจะใช้วัตถุดิบประเภทใบชาและน้ำตาลที่ผลิตในประเทศมูลค่ากว่า 2,480 ล้านบาทต่อปี
5. บริษัท แคนาดอล เพลท จำกัดได้รับการส่งเสริมการลงทุนผลิตเหล็กแผ่นหนา (Steel Plate) ประเภทเหล็กกล้าคาร์บอน เหล็กกล้าคาร์บอนพิเศษไปจนถึงวัสดุเคลือบโลหะผสม และเหล็กสแตนเลส เงินลงทุนทั้งสิ้น 21,988 ล้านบาท กำลังการผลิต 1,500,000 ตันต่อปี โดยเหล็กกล้าคาร์บอนพิเศษที่จะผลิตจากโครงการนี้ ปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตในประเทศไทย
6. นายฮิโรชิ คาวาคามิ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถเกี่ยวนวด ขนาด 60 -120 แรงม้า กำลังการผลิตประมาณ 20,000 คันต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,451 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยวแก่เกษตรกรไทย และทดแทนการนำเข้ารถเกี่ยวนวดจากต่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนในประเทศให้เข้มแข็งขึ้น
7. บริษัท ไทยโตไกคาร์บอนโปรดักท์ จำกัด ขยายกิจการผลิต ผลิตภัณฑ์เคมี ที่ใช้เป็นตัวเติมเต็มในอุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์จากยาง ( CARBON BLACK ) กำลังการผลิต 50,000 ตันต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,865 ล้านบาท โดย CARBON BLACK ที่ผลิตได้นี้จะช่วยเสริมแรงทำให้ยางมีคุณสมบัติทนทานต่อการสึกหรอ
8. นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผลิต สารตั้งต้นที่จะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ ใช้ในรูปสารเติมแต่งในอาหารเสริม เครื่องสำอางและอาหารสัตว์ ( CAROTENOID ) และ วัตถุดิบสำคัญสำหรับอาหารสัตว์ (CRUDE CAROTENOID ) เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,276 ล้านบาท โดยมีกำลังการผลิต CAROTENOID ประมาณ 20 ตันต่อปี CRUDE CAROTENOID ประมาณ 850 ตันต่อปี
9. บริษัท วีนิไทย จำกัด ( มหาชน ) ขยายกิจการผลิตก๊าซคลอรีน โซดาไฟ( ความเข้มข้น 100%) และก๊าซไฮโดรเจน เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,286 ล้านบาท ซึ่งตามแผนการผลิตบริษัทจะมีกำลังผลิตก๊าซคลอรีน ประมาณ 90,000 ตันต่อปี โซดาไฟ 100,000 ตันต่อปี และก๊าซไฮโดรเจนประมาณ 2,535 ตันต่อปี
10.บริษัท คาทูน นาที เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย และครบวงจร เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,453.5 ล้านบาท โครงการนี้จะเน้นเป็นศูนย์กระจายสินค้าประเภทเคมีภัณฑ์เป็นหลัก ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางของการกระจายสินค้าหมวดเคมีภัณฑ์ในภูมิภาคนี้
11.บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 2 จำกัด ลงทุนผลิตไฟฟ้าจากก๊าชธรรมชาติ ขนาด 120 เมกะวัตต์ และไอน้ำ ขนาด 30 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท ไฟฟ้าที่ได้จากโครงการส่วนใหญ่จะจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัทต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้
12.บริษัท ไทย เนชั่นแนล พาวเวอร์ 2 จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากก๊าชธรรมชาติ ขนาด 120 เมกะวัตต์ และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม เช่น น้ำเย็น กำลังผลิต 726 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,281.4 ล้านบาท ไฟฟ้าที่ได้จากโครงการส่วนใหญ่จะจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัทต่างๆ ในเขตอุตสาหกรรมสยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลพาร์ค
13.บริษัท เค.อาร์.ทู จำกัด ได้รับส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ขนาด 103.5 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,651.4 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่อำเภอด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เพื่อผลิตไฟฟ้า เชื่อมเข้าระบบสายส่งจำหน่ายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
14.บริษัท เฟิร์ส โคราช วินด์ จำกัด ได้รับส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ขนาด 103.5 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,653.2 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่อำเภอด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เพื่อผลิตไฟฟ้า เชื่อมเข้าระบบสายส่งจำหน่ายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย