นายวสันต์ มีวงษ์ รองโฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยผลการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (12 ก.ค. 53) ว่า สืบเนื่องจากเกิดการทรุดตัวของอาคารพักอาศัย เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 2 ชั้น ในซอยรามอินทรา 13 เขตบางเขน เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา จนเป็นที่กล่าวขวัญถึงของประชาชนในมาตรการควบคุมของหน่วยงาน โดยนายพรเทพ เตชะไพบูล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ร่วมกับ สำนักงานโยธา และสำนักงานเขตบางเขน พบว่า เจ้าของอาคารมีความต้องการจะยกพื้นชั้นที่ 1 ให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วม โดยวิธีการค้ำยันและตัดโครงสร้างระหว่างคานชั้น 2 กับเสาชั้นล่างออกจากกัน และใช้แม่แรงยกตัวอาคารตั้งแต่ชั้นที่ 2 ให้สูงขึ้นและทำการต่อโครงสร้างเสาชั้นที่ 1 เพื่อจะยกระดับพื้นชั้นที่ 1 ให้สูงขึ้นตามมา แต่เหล็กค้ำยันไม่สามารถรับน้ำหนักของโครงสร้างอาคารได้จนทำให้อาคารทรุดตัวลงมาทั้งหลัง จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 7 คน และเสียชีวิตจำนวน 1 คน ปรากฏว่าเป็นคนงานของผู้รับเหมาซ่อมแซมบ้านทั้งหมด ซึ่งการซ่อมแซมดังกล่าวจะต้องยื่นขออนุญาต หรือยื่นแจ้งความประสงค์จะดัดแปลงอาคาร ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น (กรุงเทพมหานคร, สำนักงานเขตพื้นที่) ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยมีบทกำหนดโทษของผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรา 21 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
สร้างความเข้าใจประชาชนในการซ่อมแซมบ้าน
อย่างไรก็ดี ปัญหาคือประชาชนยังมีความรู้ความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการซ่อมแซมบ้าน โดยการซ่อมแซมบ้านที่ไม่กระทำกับด้านวิศกรรม เช่น ทาสีบ้านเปลี่ยนหน้าต่างๆ เจ้าของบ้านดำเนินการได้โดยไม่ขออนุญาต ส่วนการซ่อมแซมที่กระทบกับโครงสร้างวิศวกรรมของอาคารจะต้องขออนุญาตเจ้าพนักงาน ซึ่งกฎหมายได้เปิดให้เจ้าของบ้านเป็นผู้ควบคุมงาน ในกรณีนี้หากเจ้าของบ้านไม่มีความรู้ก็อาจจะเป็นอันตรายได้ จึงจำเป็นต้องให้ความรู้กับประชาชนโดยจัดทำเป็นคู่มือการซ่อมแซมต่อเติมบ้านฉบับประชาชน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงข้อกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และขั้นตอนการขออนุญาตกระทำการใดๆ เกี่ยวกับอาคาร และมีศูนย์บริการอำนวยความสะดวกในขออนุญาตด้านอาคาร นอกจากนี้ ยังต้องกำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบตรวจตราพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เคร่งครัด และทั่วถึง หากตรวจสอบพบว่ามีการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร โดยไม่ได้รับอนุญาตฯ ต้องออกคำสั่งให้ระงับการกระทำโดยด่วน
ออก “ใบอนุญาตยิ้ม”ลดขั้นตอน
พิจารณาอนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารให้ประชาชนได้รับใบอนุญาตฯโดยเร็ว ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีโครงการลดเวลาการอนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร (ใบอนุญาตยิ้ม) โดยจัดให้มีการอนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร ภายใน 15 วัน ในกรณีที่แบบแปลนถูกต้องและภายใน 45 วัน สำหรับกรณีที่แบบแปลนต้องมีการแก้ไขให้ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้ได้ปฏิบัติใน 6 พื้นที่สำนักงานเขตนำร่อง ได้แก่ เขตคลองสามวา เขตหนองจอก เขตลาดกระบัง เขตบางขุนเทียน เขตหนองแขม และเขตตลิ่งชัน
บริการแบบบ้านยิ้ม
เพื่อความสะดวกและความรวดเร็วในการออกใบอนุญาต และเพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างทำแบบบ้านพักอาศัย สำหรับประชาชน กรุงเทพมหานครได้จัดทำแบบบ้านพักอาศัย (แบบบ้านยิ้ม) ไว้บริการประชาชน จำนวน 100 แบบ ผู้สนใจสามารถขอถ่ายสำเนาแบบบ้านได้ทุกสำนักงานเขตรวมทั้งที่สำนักการโยธา และทางเว็บไซต์ของสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ที่ www.bangkok.go.th/yota/ ทั้งนี้ติดต่อสอบถาม ศูนย์บริการให้คำปรึกษาก่อนการยื่นขออนุญาตหรือกระทำการใดๆ เกี่ยวกับอาคาร : 02-247 0104-7 หรือโทร 02-246 0301-2 ต่อ 2066 — 2067 หรือสืบค้นข้อมูลได้ทางเว็บไซต์