รศ.ดร.นพ. วิปร วิประกษิต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า โรคโลหิตจางทางพันธุกรรม หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย” เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากประชากรชาวไทยมากกว่า 30% หรือ 20 ล้านคน มีภาวะแฝง (ยีนแฝง) ของโรคดังกล่าว และประมาณการว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียไม่น้อยกว่า 1% หรือ 600,000 คนทั่วประเทศ ผู้ป่วยจะมีอาการซีดเรื้อรัง เหลือง ตับ ม้ามโต การเจริญเติบโตไม่สมอายุ มีการเปลี่ยนแปลงของกระดูก หากไม่ได้รับการดูแลและรักษาที่เหมาะสมเต็มที่ตามระดับความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยจะมีอายุขัยสั้น
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีความพยายามที่จะควบคุมป้องกันโรคดังกล่าว ด้วยการตรวจกรองหาภาวะแฝงในหญิงที่ตั้งครรภ์ และการวินิจฉัยคู่สมรสเสี่ยงเพื่อการวินิจฉัยทารกที่ป่วยด้วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแล้วก็ตาม กระบวนการดังกล่าวก็ต้องอาศัยปัจจัยด้านเวลา และความเข้าใจของสาธารณชนในวงกว้าง จึงจะสามารถประสบความสำเร็จได้ในระดับประเทศ
ดังนั้นการพัฒนาการดูแลและรักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมียจึงมีความจำเป็น และมีความสำคัญที่จะต้องกระทำควบคู่กันไปกับโครงการควบคุมป้องกันโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย แม้ว่าในปัจจุบันจะมีความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมียให้หายขาดด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (stem cell transplantation) แต่ยังมีข้อจำกัดมากมายของการรักษาด้วยวิธีการดังกล่าว ทั้งในด้านจำนวนของผู้บริจาคไขกระดูกที่มีจำกัด ความเสี่ยงจากการรักษาที่ต้องใช้ยาเคมีบำบัด และค่าใช้จ่ายในการรักษา ดังนั้นวิธีการรักษาด้วยการให้เลือดเพื่อชดเชยภาวะซีด และทดแทนการทำงานของไขกระดูกที่ผิดปกติ จึงยังมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันประมาณการว่ามีผู้ป่วยในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 50,000 ราย ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการให้เลือดอย่างสม่ำเสมอ
รศ.ดร.นพ. วิปร กล่าวว่า คลินิกธาลัสซีเมีย มีความจำเป็นในสถานบริการทางด้านสาธารณสุขในระดับต่าง ๆ และในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้บริการให้เลือดอย่างสม่ำเสมอแก่ผู้ป่วยจำนวนมาก มูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทยฯจึงมีดำริ ในการจัดโครงการฝึกอบรม “หลักสูตรการพยาบาลเบื้องต้นผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย” ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2552 เพื่อสร้างความตระหนักถึงความจำเป็น ที่จะต้องมีการพัฒนาด้านบุคลากร โดยเฉพาะพยาบาลวิชาชีพ ให้มีความรู้ ความชำนาญ และมีศักยภาพในการให้บริการพยาบาลผู้ป่วยธาลัสซีเมียได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและก้าวทันกับความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ใหม่ ๆ ในการรักษาโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในปัจจุบัน โดยการจัดอบรมในครั้งแรกประสบผลสำเร็จอย่างงดงามโดยมีบุคลากรพยาบาล มากกว่า 200 ท่านจากทั่วประเทศเข้ารับการฝึกอบรม ผู้เข้ารับการอบรมส่วนใหญ่เห็นว่าการอบรมดังกล่าวมีประโยชน์อย่างยิ่งและสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาการดูแลรักษาและให้การพยาบาลผู้ป่วยธาลัสซีเมียได้ดียิ่งขึ้น มูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทยฯ จึงวางแผนที่จะจัดเป็นประจำทุกปี
รศ.ดร.นพ. วิปร กล่าวต่อว่า การดูแลรักษากับผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย นั้น จะต้องอาศัยบุคลากรที่มีความชำนาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยาบาลวิชาชีพ ซึ่งจะมีบทบาทและเป็นหัวใจสำคัญ ในกระบวนการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หลังจากได้รับการตรวจประเมินและสั่งการรักษาจากแพทย์ผู้ทำการรักษา ซึ่งพยาบาลจะต้องมีความรู้ความเข้าใจจากการอบรมไปปฏิบัติงานจริง ในการพัฒนาการพยาบาล ทั้งในด้านการให้เลือด ให้ยาขับเหล็กและคำแนะนำทางโภชนาการแก่ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย
นอกจากนี้หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของพยาบาล คือการสร้างศักยภาพในการทำงานร่วมกันกับแพทย์ผู้ทำการรักษา ในการดูแลรักษาและป้องกันปัญหาผลแทรกซ้อนของภาวะเหล็กเกินอย่างถูกต้อง ทราบถึงองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาขับเหล็กชนิดต่าง ๆ และสามารถให้คำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง ซึ่งการพัฒนาศักยภาพของพยาบาล จะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนา “คลินิกธาลัสซีเมีย” ในสถานบริการทางสาธารณสุขระดับต่าง ๆ และในส่วนภูมิภาคต่อไป
สำหรับการจัดฝึกอบรม “หลักสูตรการพยาบาลเบื้องต้นผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียครั้งที่ 2 ” นี้จะมีการเปิดโอกาสให้บุคลากรในสายพยาบาลจากทั่วประเทศ ได้เข้าร่วมฝึกอบรมผ่านการฟังบรรยายในช่วงเช้าและฝึกปฏิบัติงานจริงในช่วงบ่ายในวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฏาคม 2553 เวลา 08.00 — 16.30 น. ณ โรงแรมเวสติน แกรนด์ สุขุมวิท ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาล (CCNE) สำหรับเครดิตการศึกษาต่อเนื่อง ให้กับพยาบาลทุกท่านที่เข้ารับการอบรมจำนวน 3.5 หน่วย ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 02-419-7000 ต่อ 9488, 9363
สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่ม กรุณาติดต่อ
คุณธนศักย์ อุทิศชลานนท์ (โป้ง)
ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด
โทรศัพท์ 0-2439-4600 ต่อ 8202 หรือ 081-421- 5249
อีเมล์: [email protected]