นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า นิตยสารเศรษฐกิจการเงินชั้นนำของโลกและเอเชีย 3 ฉบับ คือนิตยสารยูโรมันนี่ เอเชียมันนี่ และไฟแนนซ์เอเชีย ได้ตัดสินให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารยอดเยี่ยมของประเทศไทย ประจำปี 2553 (Best Bank in Thailand 2010) โดยให้เหตุผลในเรื่องการมีวิสัยทัศน์ในการวางยุทธศาสตร์การทำธุรกิจที่ชัดเจน มีผลการดำเนินงานของธนาคารที่โดดเด่น โดยเฉพาะความเป็นผู้นำในเรื่องการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม และในปีที่แล้วธนาคารมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากการเข้าไปถือหุ้นในบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต รวมทั้งมีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น มีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROE) อยู่ที่ระดับ 12.6% และมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1) ที่มีความมั่นคงอยู่ที่ระดับ 10.9%
ขณะเดียวกันสินเชื่อรวมของธนาคารยังมีการขยายตัวที่ดี โดย ณ สิ้นปี 2552 มียอดสินเชื่ออยู่ที่ 9.43 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2551 ที่มียอดสินเชื่ออยู่ที่ 9.04 แสนล้านบาท หรือเติบโตราว 4.4% โดยธนาคารเน้นการเติบโตของสินเชื่อเอสเอ็มอีมาโดยตลอด จนก้าวมาเป็นผู้นำในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี เนื่องจากมีการพัฒนาทักษะการให้บริการของพนักงานผู้ดูแลความสัมพันธ์ มีการวางระบบการบริหารจัดการและฐานข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง ธนาคารกสิกรไทยจึงสามารถเดินหน้าขยายสินเชื่อได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปีที่แล้ว ขณะที่สัดส่วน NPL ณ สิ้นปี 2552 อยู่ที่ระดับ 3.76% ซึ่งเป็นระดับต่ำเมื่อเทียบกับในระบบ
นายประสาร กล่าวตอนท้ายว่า รางวัลดังกล่าวนับเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาการธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม ทำให้ธนาคารกสิกรไทยสามารถก้าวมาเป็นธนาคารชั้นแนวหน้าของประเทศไทย และจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพบริการที่เหนือขึ้นไปอีก
ทั้งนี้ ในปี 2553 ธนาคารกสิกรไทยยังได้รับยกย่องด้านความเป็นเลิศ ในการให้บริการทางการเงินอีกหลายประเภท เช่น รางวัลธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยประจำปี 2553 (Best Retail Bank 2010) จากวารสารการเงินธนาคารเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน รางวัลธนาคารผู้ให้บริการธุรกิจต่างประเทศยอดเยี่ยม ประจำปี 2553 (Best Trade Finance Provider 2010) จากนิตยสารโกลบอล ไฟแนนซ์ เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน และรางวัลธนาคารผู้ให้บริการการจัดการด้านการเงินยอดเยี่ยม ประจำปี 2553 (Best Cash Management Bank 2010) จากนิตยสารไฟแนนซ์เอเชีย เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน