นาวาตรี วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า เปิดเผยถึงความคืบหน้ากิจกรรม Asia Animation Award 2010 ภายใต้โครงการ ดิจิทัล มีเดีย เอเชีย 2010 ที่ดำเนินงานร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) ว่า “หลังจากได้ประกาศรับสมัครประกวดผลงานทางด้านแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟฟิกส์ เป็นที่น่ายินดีว่ามีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมกว่า 90 ผลงาน แบ่งเป็น ผลงานแอนิเมชั่นซีรีส์ จำนวน 30 ผลงาน และผลงานแอนิเมชั่นสั้น จำนวน 61 ผลงาน โดยทางคณะกรรมการ ซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 โมเดิร์นไนน์ และทีวีไทย ได้ทำการคัดเลือกผลงาน ให้เหลือประเภทละ 10 ผลงาน (ดูรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกได้ที่ http://www.animationaward2010.com) และเพื่อให้เกิดการต่อยอดการประกวดให้สามารถเข้าถึงการผลิต ทางผู้จัดงานจึงได้ทำการเซ็นสัญญาร่วมโครงการกับผู้เข้ารอบทั้งหมด เพื่อมอบทุนให้ผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรกนำไปผลิตผลงานมาแข่งขันในรอบสุดท้ายชิงรางวัลสุยอดแอนิเมชั่นแห่งเอเชีย ในเดือนสิงหาคม 2553”
นายลักษมณ์ เตชะวันชัย นายกสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) กล่าวเพิ่มเติมว่า “Asia Animation Award 2010 นี้ ถือเป็นโครงการแรกที่ TACGA ออกแบบกลไกของการประกวดให้ตอบโจทก์กับอุตสาหกรรมและผู้ผลิตผลงานเข้าประกวด โดยประกอบไปด้วย 2 ปัจจัยหลักคือมีการให้ทุนการผลิตเบื้องต้นหลังผ่านการคัดเลือกในรอบแรก และมีโอกาสที่จะได้รับการคัดเลือกจากสถานีโทรทัศน์ในการนำไปผลิตจริงเพื่อใช้งานเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต จากประสบการณ์ของ TACGA ที่จัดกิจกรรมหรือโครงการประกวดต่างๆ พบว่า ในหลักการที่เคยปฏิบัติเมื่อผลงานที่ผ่านเข้ารอบแรกแล้ว จะต้องทำการผลิตผลงานจนแล้วเสร็จก่อน และส่งผลงานนั้นเข้ามาให้คณะกรรมการพิจารณาตัดสิน เพื่อจัดลำดับของรางวัลและทำการมอบรางวัลกันต่อไป โดยผู้ส่งผลงานเข้าประกวดมักต้องออกทุนส่วนตัวในการผลิต และมีค่าใช้จ่ายในการผลิตสูง จนกระทั่งผู้เข้าร่วมประกวดในปีก่อนๆ จำเป็นต้องกู้เงินจากธนาคารหรือแหล่งเงินอื่นมาผลิต หรือไม่ก็ถอนตัวจากการแข่งขัน ตรงจุดนี้ TACGAจึงเสนอคณะทำงาน Asia Animation Award 2010 ให้มีการจัดสรรเงินทุน ซึ่งนำมาเงินรางวัลในขั้นสุดท้าย ให้กับผู้ผ่านเข้ารอบแรกเพื่อทุนในการนำไปผลิตผลงาน โดยแอนิเมชั่นซีรีส์ ได้รับเงินจำนวนหนึ่งต่อ 1 ผลงาน ที่ 80,000 บาท และประเภทผลงานแอนิเมชั่นสั้น ได้รับเงินจำนวนหนึ่งต่อ 1 ผลงาน ที่ 20,000 บาท หลังจากส่งผลงานที่ผลิตเสร็จแล้ว เข้ามาประกวดรอบสุดท้าย คณะกรรมการจะทำการตัดสินและให้รางวัลตามลำดับ และรับรางวัลเพิ่มเติมส่วนที่เหลือจากที่ได้ในรอบแรก ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ได้รางวัลที่ 1 ประเภทผลงานแอนิเมชั่นซีรีส์ยอดเยี่ยมจะได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท แต่ในรอบแรกได้รับเงินทุนไปแล้วเพื่อใช้ในการผลิต 80,000 บาท เขาก็จะได้เงินรางวัลในส่วนที่เหลืออีก 120,000 บาท เป็นต้น ตรงจุดนี้ ถือเป็นการนำเงินรางวัลที่เขาจะได้รับจริงในการประกวด ไปเป็นทุนไปใช้ในการผลิตเบื้องต้นก่อนเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับผู้เข้าแข่งขันได้”
Asia Animation Award 2010 นี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้เกิดการต่อยอดการประกวดให้สามารถเข้าถึงการผลิต และช่องทางการออกอากาศ รวมถึงการต่อยอดให้เกิดการเผยแพร่ผลงานไปสู่ระดับเอเชียสำหรับออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ในประเทศและเอเชีย เพื่อเป็นการเริ่มต้นพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นเพื่อการส่งออกต่อไป โดยมีกลุ่มเป้าหมายในประเทศไทย คือ ผู้ผลิตแอนิเมชั่นซีรี่ส์ ส่วนกลุ่มเป้าหมายในต่างประเทศ คือ ตัวแทนจัดจำหน่ายและนักลงทุนในงานแอนิเมชั่น และถือเป็นกิจกรรมแรกในประเทศไทย ที่คำนึงถึงการต่อยอดการประกวดให้สามารถเข้าถึงการผลิตชิ้นงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ จึงได้กำหนดให้มีการเตรียมทุนให้กับผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรก ให้มีเงินทุนไปผลิตผลงาน เพื่อมานำเสนอในรอบสุดท้ายโดยกำหนดส่งผลงานเข้าประกวดรอบอีกครั้งภายในวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 และประกาศผลรางวัลราวต้นเดือนสิงหาคม โดยมีรางวัล 20 รางวัล แบ่งเป็น
- แอนิเมชั่นซีรีส์ ความยาว 11นาที (จำนวน 1 ตอน) รวม10 รางวัล
รางวัลที่ 1 ยอดเยี่ยม 200,000 บาท
รางวัลที่ 2-6 รางวัลละ 150,000 บาท
รางวัลที่ 7-10 รางวัลละ 120,000 บาท
- แอนิเมชั่นสั้น ความยาว 1 นาที ( 2 ตอน) รวม 10 รางวัล
รางวัลที่ 1 Filler ยอดเยี่ยม 100,000 บาท
รางวัลที่ 2-6 รางวัลละ 50,000 บาท
รางวัลที่ 7-10 รางวัลละ 35,000 บาท