สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทยจัดบรรยาย “ร่วมพลังเอาชนะมะเร็งเต้านม”

พฤหัส ๑๕ กรกฎาคม ๒๐๑๐ ๑๓:๒๘
สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมการให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม พร้อมเชิญชวนประชาชนและผู้สนใจทั่วไปเข้าฟังการบรรยายพิเศษภาคประชาชน ในหัวข้อ “ร่วมพลังเอาชนะมะเร็งเต้านม” ในวันพุธที่ 18 สิงหาคม 2553 เวลา 17.00 - 19.00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก

ศ.(คลินิก) พลตรี นพ.สุรพงษ์ สุภาภรณ์ นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงการทำงานของสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาว่า สมาคมฯ ได้ดำเนินกิจกรรมการให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมแนวใหม่ กับแพทย์ในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ อาทิ จังหวัดเชียงราย, พิษณุโลก, นครสวรรค์ ,อุดรธานี, อุบลราชธานี,นครราชสีมา, สุราษฏร์ธานี และหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม สามารถเข้าถึงการรักษาอย่างมีมาตรฐานที่ดีมากขึ้นอย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ ทั้งนี้ จากอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งที่พบในประเทศไทย มะเร็งเต้านมจัดเป็นมะเร็งที่พบมากในผู้หญิงไทย และมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยสูงมากขึ้นทุกปีโดยพบมากในผู้หญิงช่วงอายุ 40 ปี ขึ้นไป

มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่สามารถจัดการรักษาได้ในทุกระยะของการดำเนินโรค และสามารถรักษาให้หายขาดได้ประมาณ 80-90 เปอรเซ็นต์ หากตรวจพบและทำการรักษาตั้งแต่ระยะแรกที่เริ่มเป็น ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้เช่นเดียวกับคนปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ สำหรับประเทศทางซีกโลกตะวันตก ถึงแม้จะมีความเจริญก้าวหน้ามากกว่าประเทศไทย แต่กลับพบจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสูงกว่าประเทศไทย ถึง 6-7 เท่า โดยพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมประมาณ 200 คนในประชากร 1 แสนคน สำหรับประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการให้ความรู้และดำเนินการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเป็นประจำ เพื่อให้หญิงไทยที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป หันมาให้ความใส่ใจดูแลสุขภาพและเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหามะเร็งเต้านมเป็นประจำทุกปี

ทางสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย ได้ตระหนักและจัดกิจกรรมประจำปีในการให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็งเต้านมแก่ผู้ป่วยและผู้สนใจทุกท่านเป็นประจำทุกปี โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งเต้านมจากสถาบันต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยในปี 2553 นี้ สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย ขอเชิญชวนประชาชนและผู้สนใจทั่วไปเข้าฟังการบรรยายพิเศษภาคประชาชนในหัวข้อ “ร่วมพลังเอาชนะมะเร็งเต้านม” ในวันพุธที่ 18 สิงหาคม 2553 เวลา 17.00 - 19.00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น (พร้อมรับของที่ระลึกจำนวนจำกัด 400 ท่านแรก) สำรองที่นั่งได้ที่ คุณธัชนันท์ เลาะเซ็ม (เลขานุการ สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย)โดยส่ง SMS ชื่อและนามสกุล หรือโทรศัพท์มาที่เบอร์ 08-5243-3500 หรืออีเมล์ [email protected]

การบรรยายในครั้งนี้จะเป็นการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมโดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย และวิทยากรพิเศษพร้อมรับฟังเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมและผู้ใกล้ชิด โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จะมีการบรรยายในหลากหลายหัวข้อ อาทิ หัวข้อ “ศัลยแพทย์” เรื่อง เสริมและสร้าง เพื่อการเริ่มต้นของผู้ป่วย ,หัวข้อ “นักโภชนาการ” เรื่อง ฟื้นฟูสุขภาพให้กลับมาดีด้วยสุขวิธีการรับประทาน , หัวข้อ “มัณฑนาการ” เรื่อง พักฟื้นร่างกาย ...ฟื้นฟูจิตใจ...ด้วยสิ่งแวดล้อมใหม่ในบ้านหลังเก่า และหัวข้อเกี่ยวกับ “ประสบการณ์ตรงจากผู้ป่วย” เรื่อง แบ่งปันกำลังใจเพื่อวันใหม่ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จะได้รับหนังสือคู่มือ “ รู้ทันมะเร็งเต้านม” ซึ่งเขียนโดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศ จำนวนท่านละ 1 เล่ม เพื่อให้เข้าใจถึงการดูแลตนเองเกี่ยวกับโรคเต้านมและมะเร็งเต้านม ได้อย่างถูกต้องมากขึ้น

การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบัน จะมีการรักษาทั้งหมด 5 วิธี ได้แก่ การผ่าตัด, การฉายแสง,การให้ยาเคมีบำบัด ,การให้ยาต้านฮอร์โมนและการรักษาที่เป้าหมายของการเกิดมะเร็ง (targeted therapy) โดยสำหรับวิธีที่ 1 คือการผ่าตัดเต้านมและผ่าตัดเต้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ จะมี 2 แบบในปัจจุบัน คือการผ่าตัดแบบตัดเต้านมออกทั้งหมด ซึ่งถ้าทำในผู้ป่วยที่อายุยังไม่มาก อาจมีผลกระทบด้านจิตใจได้ และการผ่าตัดแบบตัดเต้านมและเสริมเต้านมทันที ทำโดยการย้ายเนื้อด้านหลังมาทดแทนส่วนที่ตัดออกไป แต่ในกรณีที่ไม่สามารถย้ายเนื้อด้านหลังได้ ก็ให้ใช้เนื้อบริเวณหน้าท้องหรือในบางรายที่เนื้อบริเวณหลังหรือท้องไม่เพียงพอ อาจต้องใช้ซิลิโคนเสริมเข้าไป ทั้งนี้ ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ว่าจะเลือกเนื้อบริเวณไหนมาเสริมบริเวณส่วนที่ตัดออกไป

อีกกรณีหนึ่ง คือการผ่าตัดเต้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ หากเป็นสมัยก่อนการผ่าตัดจะต้องเลาะท่อ น้ำเหลืองที่รักแร้ออกให้หมด ซึ่งข้อเสียคือ มักเกิดอาการแขนบวมและผู้ป่วยห้ามเจาะเลือดวัดความดัน ห้ามฉีดยา ห้ามยกของหนักหรือโดนของมีคม และมีข้อควรระวังอีกหลายอย่าง ซึ่งวิธีปัจจุบันจะทำโดยการฉีดสารบางชนิด เช่น ฉีดสีหรือสารกัมมันตภาพรังสีเข้าสู่ร่างกายและสังเกตว่าสารนั้นวิ่งไปบริเวณใด และเลาะเอาตำแหน่งดังกล่าวมาตรวจดูว่ามีมะเร็งหรือไม่

วิธีที่ 2 คือ การฉายแสง ส่วนใหญ่มักจะให้การรักษาด้วยวิธีนี้ ในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนหลังจากการผ่าตัด ใช้วิธีนี้ในกรณี ดังนี้ คือ 1. ก้อนใหญ่กว่า 5 เซ็นติเมตร หรือมีแผลติดกระดูกซี่โครง 2.มีมะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลือง 4 ต่อมขึ้นไป 3. มีการผ่าก้อนมะเร็งได้ไม่หมด และ4. ใช้ร่วมกับการผ่าตัดแบบเก็บเต้านม วิธีที่ 3คือการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งจะไม่ใช้กับผู้ป่วยทุกราย โดยการให้ยาเคมีบำบัด จะเริ่มให้ประมาณ 1 เดือนหลังผ่าตัด ให้ทุก 3 สัปดาห์ และให้อีกประมาณ 4-8 รอบการรักษา วิธีที่ 4 คือการรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมน โดยส่วนใหญ่จะให้รับประทานยาเป็นเวลานานติดต่อกันประมาณ 5 ปี โดยเลือกให้ในผู้ป่วยที่มีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือโปรเจสโตเจนเป็นบวก และวิธีที่ 5 การรักษาที่เป้าหมายของการเกิดมะเร็ง (targeted therapy) ยาชนิดนี้จะออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับผู้ป่วยที่มีตัวรับของ Her 2 ในปริมาณมาก โดยยานี้จะปิดกั้นตัวรับชนิดนี้ แต่ยามีราคาค่อนข้างสูง การเลือกใช้ยานี้จึงขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

สำหรับวิธีการฟื้นฟูจิตใจให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมนั้น เมื่อผู้ป่วยกลับมารักษาตัวที่บ้าน ควรดูแลบ้านให้โปร่งและโล่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวกเพราะในช่วงที่ให้ยาเคมีบำบัด จะมีการติดเชื้อได้ง่าย ภายในห้องนอนควรโปร่งไม่อับชื้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ไม่ควรนำสัตว์เลี้ยง เช่นสุนัข หรือแมว ไว้ในบ้าน หากมีสวนหรือสวนดอกไม้ ให้ระวังเรื่องเกสรดอกไม้บางชนิด อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการแพ้ได้ง่าย และหากผู้ป่วยเพิ่งได้รับการผ่าตัดใหม่ ๆ ผู้ป่วยจะมีอาการไหล่ ติด ควรจัดบริเวณบ้านให้มีพื้นที่ออกกำลังกาย ให้ผู้ป่วยสามารถออกกำลังแขนได้ ในส่วนของที่นอนควรจัดที่นอนให้นุ่มเพื่อรองรับบริเวณตรงแผลที่ผ่าตัดไม่ให้กระทบกระเทือนนอกจากนี้ภายในบ้านควรจัดวางของให้เป็นระเบียบ เพื่อป้องกันการหกล้มของผู้ป่วย

ในส่วนของการรับประทานอาหารของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม จำเป็นต้องทานอาหารให้ครบหลัก 5 หมู่ และไม่ควรงดอาหารประเภทโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ การรับประทานผักผลไม้จะต้องล้างให้สะอาด และบริโภคสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วน เพราะสารอาหารเหล่านี้จะช่วยให้เซลล์ที่ดีเพิ่มจำนวนมากขึ้น หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดในการรักษามาแล้ว สำหรับผู้ป่วยที่อาการอยู่ในช่วงปลายของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร ดังนั้นผู้ดูแล ควรทำอาหารให้มีสีสันและมีรสชาติน่ารับประทาน เพื่อดึงดูดใจผู้ป่วยให้รับประทานให้ได้มากที่สุด

สอบถามรายละเอียดเพิ่มกรุณาติดต่อ

คุณธนศักย์ อุทิศชลานนท์ (โป้ง)

ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด

โทรศัพท์ 0-2439-4600 ต่อ 8202

โทรสาร 0-2861-0675 อีเมล์ [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ