คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ประธานคณะอนุกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ด้านการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่าคณะอนุกรรมการฯ ว่าคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนไทยได้เข้ารับการศึกษาที่มีคุณภาพและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง จะไม่เน้นการให้การศึกษาเฉพาะเด็กที่อยู่ในโรงเรียนเท่านั้น จำเป็นจะต้องเริ่มตั้งแต่เด็กแรกเกิด ไปจนถึงเยาวชนที่อยู่นอกโรงเรียน แรงงานนอกระบบ ทุกส่วนพยายามเสนอช่องทางที่จะให้การศึกษาแก่คนเหล่านี้ โดยเฉพาะการให้การศึกษากับพ่อแม่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะปูพื้นฐานของการเรียนรู้ พัฒนาการของเด็กเพื่อเตรียมความพร้อมได้รับการอบรมดูแลอย่างดีและต่อเนื่อง
การพัฒนาระบบและรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ต้องพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานชัดเจน เช่น โครงการปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู ต้องเพิ่มความชัดเจนลงไปในรายละเอียดเหล่านี้ ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวต่อและว่า จะทดลองนำแนวความคิดที่มีความหลากหลายจากคณะทำงานลงไปปฏิบัติจริงใน 5พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ อุดรธานี นครสวรรค์ และ นครศรีธรรมราช โดยอาศัยความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน ซึ่งการนำข้อเสนอลงสู่การปฏิบัติจะทำให้รู้ว่าสามารถจัดการเพิ่มโอกาส และการเรียนรู้ที่มีคุณภาพกับคนทุกคนในพื้นที่นั้นได้หรือไม่ โดยมอบหมายให้ สพฐ. เป็นผู้ดำเนินการ ภายใน 6 เดือน น่าจะพบข้อเสนอบางอย่างหลังจากที่ได้ทดลองปฏิบัติจริงและจะนำผลที่ได้ดังกล่าวมาถอดบทเรียนและจัดทำเป็นข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายต่อไป
“หลักสูตรและกระบวนการการจัดการเรียนรู้ต้องสอดคล้องกับตัวผู้เรียนเป็นหลัก ทั้งหลักสูตร วิธีประเมิน วิธีเทียบโอน ต้องไม่มีรูปแบบเดียว จึงต้องมีทางเลือกที่หลากหลาย เพราะคนที่ตกหล่นที่อยู่นอกระบบการศึกษา เขาเหล่านั้นจะมีความพร้อมความถนัดที่ไม่เหมือนเพื่อน ถ้าหากมีการจัดการศึกษารูปแบบเดียว จะทำให้ได้กลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียว เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเน้นความยืดหยุ่น ความหลากหลาย การผสมผสานการเรียนในระบบ นอกระบบที่มีหลักสูตร หรือการเรียนตามอัธยาศัย สามารถนำมาเทียบโอนได้” คุณหญิงกษมากล่าว