แต่จะทำอย่างไรเมื่อร่างกายส่งสัญญาณเตือน ด้วยอาการปวดเข่า ไหล่ตึง จนบางครั้งคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ เดี๋ยวก็หาย แต่หากปล่อยทิ้งไว้อาจกลายเป็นเรื่องน้อยนิด แต่ให้โทษมหาศาลกับร่างกายทีเดียว
ดร.มนต์ทณัฐ โรจนาศรีรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ ไคโรเมด สหคลินิก และโฆษกสมาคมการแพทย์ไคโรแพรคติกแห่งประเทศไทย จะช่วยไขข้อข้องใจของอาการเข่าเสื่อม ไหล่ติด ซึ่งเป็นปัญหากวนใจของคนเมืองในปัจจุบัน
เข่าเสื่อม
หากรู้สึกมีเสียงก็อบแก็บเมื่อคุณขยับข้อเข่าในแต่ละครั้ง อย่าประมาทคิดว่าเป็นเพียงอาการ เล็ก ๆ น้อย ๆ และอดทนอยู่กับอาการเหล่านี้ เพราะอาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคข้อเข่าเสื่อมได้
สัญญาณเตือนว่าปัญหาเข่าเสื่อมกำลังมาเยือน
เมื่อก่อนเรามักเข้าใจว่าการเสื่อมถอยของร่างกายจะเกิดเมื่อเข้าสู่วัยชรา แต่ในกรณีที่มีการใช้ข้อเข่าอย่างหนัก ทั้งการเดิน การวิ่ง อาการเข่าเสื่อมก็จะมาเยือนคุณเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปมาก อาทิ
- การขึ้น ลงบันได โดยเฉพาะในปัจจุบันคนเมืองนิยมอยู่อาศัยในอพาร์ทเมนท์ คอนโดมิเนียม ทำงานในอาคารสูง การขึ้น ลงบันไดบ่อยๆจะทำให้เกิดการเสียดสีของข้อเข่าระหว่างที่เดินขึ้น ลงบันได รวมถึงพื้นซึ่งมักเป็นคอนกรีตแข็ง ทำให้เกิดแรงกระแทกต่อเข่ามากกว่าการเดินบนพื้นดินหรือพื้นหญ้า
- พฤติกรรมการบริโภค ส่งผลให้น้ำหนักตัวมากขึ้น การรับน้ำหนักของข้อเข่าก็มากขึ้นตามไปด้วย - การออกกำลังกายอย่างไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะท่าทางที่มีลักษณะยืด งอพร้อมไปกับการ บิดเข่า อาจส่งผลต่อการรับแรงของข้อเข่าได้
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีก อาทิ ผู้ที่เคยติดเชื้อในข้อ หรือเคยประสบอุบัติเหตุต่าง ๆ จนมีการบาดเจ็บ จะนำมาซึ่งโรคข้อเข่าเสื่อมได้เร็วขึ้น หรือแม้กระทั่งมีอาการอักเสบเรื้อรังจากโรครูมาตอยด์ ซึ่งจะส่งผลให้ข้อเสื่อมเร็วกว่าคนปกติ
ดร. มนต์ทณัฐ กล่าวว่า “อาการสำคัญที่บ่งชี้ถึงการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม คือ อาการปวดข้อเข่า ข้อติดขัดขยับไม่ออก อาจมีเสียงลั่นดังในข้อคล้ายกระดูกเสียดสีกัน ข้ออักเสบบวม ข้อคดงอข้อขาโก่ง ปัญหาในการเคลื่อนไหวข้อที่ทำได้น้อยลง ซึ่งก่อนหน้านี้ บางท่านอาจมีอาการเตือนมาล่วงหน้า อาทิ เมื่อขยับหัวเข่าแล้วรู้สึกติดขัดบ้าง การเดินในระยะใกล้ ๆ แล้วรู้สึกปวด เมื่อนั่งอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เช่น นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ จะรู้สึกปวดเข่า หรือเมื่อเปลี่ยนท่าทางลุกขึ้นยืนจะไม่มีแรง”
กลุ่มเสี่ยงเข่าเสื่อม
- ลักษณะของโครงสร้างที่ผิดรูปอันมาจากอาการเท้าแบน เนื่องจากภาวะการลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้าผิดปกติ ไม่ทิ้งตัวลงในแนวตรง ส่งผลให้ข้อรับน้ำหนักไม่ถูกต้อง ทางที่ดีควรตรวจโครงสร้างตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อตรวจสอบความผิดปกติ และเตรียมการรักษาไว้แต่เนิ่น ๆ
- กลุ่มผู้ใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ
- คนอ้วน หรือสตรีที่ผ่านการตั้งครรภ์ เนื่องจากขณะตั้งครรภ์ร่างกายต้องแบกรับน้ำหนักมากทำให้การถ่ายเทน้ำหนักผิดปกติ
- กลุ่มผุ้สูงอายุ ผู้ที่ใช้งานข้อเข่ารับน้ำหนักมาก หรืออยู่ในท่าที่ถูกกดทับ งอ มากเกินไปบ่อยๆ เช่น นั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ หรือนั่งยองๆ
- ผู้ที่เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมที่มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า หรือใช้งานที่มีการกระแทกลงน้ำหนักมากๆ เช่น การวิ่งระยะไกล การเล่นกีฬาบางชนิด เช่น บาสเกตบอล , ฟุตบอล ฯลฯ
รู้ทันอาการเข่าเสื่อม
การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เป็นความจริงทุกประการที่ใครก็ต่างไม่อยากมีโรคภัยมาถามหา แต่จะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการเข่าเสื่อมแล้วต้องทำงานอย่างหนักเพื่อหาเงินมารักษา ดังนั้น การปรับพฤติกรรมของตนเองตั้งแต่วันนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และยิ่งหากคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยง !!! ด้วยแล้ว การป้องกันย่อมดีกว่าการเยียวยารักษาอย่างแน่นอน
ดร.มนต์ทณัฐ ได้ให้คำแนะนำเชิงป้องกันไว้ด้วยว่า “ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ข้อเสื่อมมากขึ้น เช่น คุกเข่า นั่งพับเพียบ ขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ควรออกกำลังกายและบริหารข้อเข่าอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ พร้อมกันนั้นก็ไม่ควรละเลย การดูแลแนวโครงสร้างร่างกาย ตรวจหาความผิดปกติโครงสร้าง เช่น เท้าแบน ขายาวไม่เท่ากัน สะโพกบิดเอียง หรือแนวกระดูกสันหลังแอ่นงอ ผิดแนวปกติ ร่วมไปกับการฝึกฝนเรื่องสมดุล และการทรงตัว เพื่อกระจายน้ำหนักให้สม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการ ที่โครงสร้างส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายต้องทำงานมากจนเกินไป และที่สำคัญสำหรับคุณ ๆ ที่มีความสุขกับการรับประทานอาหาร ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้รับประทานอย่างพอเหมาะพอดี เพื่อไม่ให้มีน้ำหนักตัวมากเกินไป”
สำหรับวิธีการรักษานั้น ดร.มนต์ทณัฐ กล่าวว่า “ปัจจุบันการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมนั้น มี 2 วิธีด้วยกัน คือ วิธีไม่ผ่าตัด และวิธีผ่าตัด ซึ่งด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า และการผสมผสานการแพทย์ทางเลือกเข้ามาใช้ในการรักษามากขึ้น ทำให้เกิดแนวทางในการรักษาใหม่ ๆ สำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม โดยวิธีการรักษาแบบไม่ผ่าตัดนั้น แบ่งออกเป็น การรักษาด้วยยา ได้แก่ ยาแก้ปวด ลดอักเสบ และยาเสริมสร้างกระดูกอ่อนผิวข้อ การรักษาด้วยวิธีไม่ใช้ยา อาทิ การจัดปรับสมดุลโครงสร้าง การทำกายภาพบำบัด การออกกำลังเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อต้นขา การใช้อุปกรณ์เสริมช่วยเดิน และอุปกรณ์พยุงเข่า สำหรับวิธีการผ่าตัดนั้น ก็คือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม การผ่าตัดกระดูกขาให้ตรง แต่ในปัจจุบัน ได้มีการนำเสนอแนวทางการรักษาแนวใหม่ แบบไม่ต้องผ่าตัด เช่น การใช้ยาฉีดเข้าข้อเข่า เพื่อเพิ่มน้ำหล่อเลี้ยงให้กับเข่า ร่วมกับการทำการพัฒนากล้ามเนื้ออย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งประโยชน์ของการรักษาด้วยวิธีการนี้ จะสามารถบรรเทาอาการปวดของโรคข้อเสื่อมและเพิ่มการเคลื่อนไหวในข้อติดได้ ตลอดจนสามารถช่วยลดแรงกระแทกและหล่อลื่นข้อมากขึ้นทำให้ชะลอการเสื่อมของข้อ และลดภาวะของกระดูกอ่อนเสื่อมสภาพได้ อีกด้วย”
ไหล่ติด
อาการข้อไหล่ติด มักพบหลังจากมีการเจ็บของข้อไหล่ ซึ่งอาจเจ็บอยู่เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน และเมื่ออาการเจ็บทุเลาลง จะตามมาด้วยอาการยกแขนไม่ขึ้นหรือยกแขกแต่ละทีก็รู้สึกติดขัดไปหมด ทำให้เกิดปัญหาหงุดหงิดรำคาญใจ เพราะไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิม แต่ถ้ารู้จักสังเกตตัวเองตั้งแต่เริ่มมีอาการเจ็บหัวไหล่ในช่วงแรก และไม่ปล่อยปละละเลยจะทำให้อาการไม่ลุกลามจนกลายเป็นปัญหาใหญ่โต
ดร.มนต์ทณัฐ กล่าวถึงอาการไหล่ติดว่า “ไหล่ติดมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในสัดส่วน 60:40 มักเกิดกับแขนข้างที่ไม่ถนัดมากกว่า หากมีอาการข้อไหล่บาดเจ็บอาจเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาไหล่ติดได้
แต่สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดข้อไหล่ติดยังไม่แน่ชัดเช่นกัน แต่โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากลักษณะของโครงสร้างที่ผิดปกติในแนวหลังตอนบนและต้นคอที่ค่อมมาทางด้านหน้า ทำให้เกิดสภาวะเสียสมดุลของหัวไหล่และสูญเสียการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง ทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อไหล่ได้”
อาการเตือนว่าอาการไหล่ติดกำลังถามหา
แบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยเริ่มจากการเจ็บบริเวณไหล่ , มีอาการติดขัด รู้สึกเจ็บทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหว และสุดท้ายระยะฟื้นตัวอาการเจ็บจะลดลงเรื่อยๆแขนข้างที่เจ็บจะเคลื่อนไหวได้มากขึ้นอย่างช้าๆ
เมื่อฟื้นตัวจะหายเองได้ แต่มักจะเคลื่อนไหวแขนได้ไม่สุดเหมือนที่เคยทำได้ ทางที่ดีลองสังเกตตัวเองว่า ถ้าเคลื่อนไหวร่างกายในท่าทางเหล่านี้ แล้วมีอาการเจ็บ ตึง ติดขัด อาการไหล่ติดอาจกำลังถามหาคุณอยู่
- เหยียดแขนไปหยิบของบนที่สูง
- ดันประตูหนักๆให้เปิดออก
- เมื่อสระผม หรือถูหลังให้ตัวเอง
- เมื่อสวมเสื้อหรือถอดเสื้อยืดเข้าออกทางศีรษะ
ฟื้นฟูอาการไหล่ติด
ดร.มนต์ทณัฐ ให้คำแนะนำในการฟื้นฟูร่างกายจากอาการไหล่ติดว่า “พยายามยืดเยื่อหุ้มข้อไหล่และเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ โดยใช้สภาพแวดล้อมรอบตัวมาเป็นตัวช่วย เช่น บันได ผนังห้องห้อง คานโหน ช่วยในการทำกายบริหาร โดยหมั่นยืดร่างกายทีละน้อย ในระยะแรกอาจมีอาการเจ็บบ้างเล็กน้อย แต่ต้องใช้เวลาในการบริหารหลายเดือนจนอาการลดน้อยลง แต่ถ้าทำแล้วเจ็บมากติดต่อกันหลายวัน ควรได้รับการตรวจและวินิจฉัยอย่างละเอียดจากแพทย์”
หลากหลายคำแนะนำกับแนวทางรับมืออาการเข่าเสื่อม และไหล่ติด จากไคโรเมด สหคลินิก เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการดูแลสุขภาพจากภายในสู่ภายนอกอันจะนำไปสู่สุขภาพที่ดีอย่างแท้จริง ปรึกษาปัญหาสุขภาพ คำแนะนำด้านการดูแลโครงสร้างร่างกาย การออกกำลังกายที่ถูกวิธี โทร 0 2713 6745 — 6 หรือคลิก www.chiromedbangkok.com
สนับสนุนข้อมูลโดย : ไคโรเมด สหคลินิก
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 0 2682 9880