ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว สำนักงานก.พ.จึงประชาสัมพันธ์การประเมินผลการปฏิบัติราชการเป็นระยะ เพื่อให้ข้าราชการและส่วนราชการทราบว่า ควรดำเนินกิจกรรมใด ในช่วงเวลาใด อาทิ การมอบหมายงาน การกำหนดตัวชี้วัดผลงาน บันทึกผลงาน ติดตาม สอนแนะ ประเมินผลงาน ฯลฯ เพื่อให้การบริหารผลการปฏิบัติงานถูกนำไปใช้อย่างเต็มรูปแบบ ช่วยให้ผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการเกิดความเป็นธรรม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภารกิจและเป้าหมายองค์กร
สำหรับในส่วนกลาง สำนักงาน ก.พ. ได้นำส่วนราชการที่ประสบความสำเร็จในการนำระบบการประเมินผลการปฏิบัติราชการและเลื่อนเงินเดือนในรอบแรกมาถ่ายทอดประสบการณ์ เพื่อให้ส่วนราชการอื่นสามารถนำเป็นตัวอย่างสำหรับดำเนินการในรอบที่สอง (1 เมษายน 2553 — 31 ตุลาคม 2553) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความเป็นธรรมให้แก่ข้าราชการ โดยมีหน่วยงานต้นแบบที่ถ่ายทอดประสบการณ์ครั้งนี้ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ กรมสรรพากร
นางเพ็ญจา อ่อนชิต รองเลขาธิการ สศช. กล่าวถึงประสบการณ์การนำระบบการประเมินผลการปฏิบัติไปในองค์กร ว่า การประเมินผลการปฏิบัติราชการรูปแบบใหม่ เป็นเครื่องมือสำหรับผู้บริหารที่มีความยืดหยุ่น ช่วยในการบริหารผลการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อองค์กร โดย สศช. ได้จัดทีมงานพิเศษเพื่อจัดทำแผนการดำเนินงาน กำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัดการทำงาน ฯลฯ ทำให้การประเมินผลรอบแรกที่ผ่านมา สศช. สามารถออกคำสั่งเลื่อนเงินเดือนตามระบบใหม่ได้ภายในวันที่ 1 เมษายน 2553 ทั้งนี้ สศช. เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นพันธกิจสำคัญขององค์กรที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ สศช. ยังให้ความสำคัญกับการสื่อสารภายในองค์กร เพราะถือเป็นหัวใจหลักในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการประเมินผล ฯ รูปแบบใหม่ แก่ข้าราชการทุกระดับ
การกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการประเมินต้องชัดเจน ตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน หากข้าราชการได้รับความเป็นธรรม การร้องเรียนจะน้อยหรือไม่มีเลย สำหรับหลักเกณฑ์วิธีการประเมินของ สศช. จะอิงหลักเกณฑ์ที่สำนักงานก.พ. กำหนดเป็นหลัก มีการแบ่งระดับเกณฑ์การประเมินอย่างชัดเจน และประกาศให้เจ้าหน้าที่ทุกคนทราบสามารถตรวจสอบได้ การที่หน่วยงานจะประสบความสำเร็จในการจัดการระบบการประเมินผลฯ ได้นั้น นโยบายของผู้บริหารต้องชัดเจน กล้าตัดสินใจ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับข้าราชการทุกระดับ”
ด้าน นางจิตรมณี สุวรรณพูล สรรพากรภาค 1 กล่าวว่า หลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่ กรมสรรพากรให้ความสำคัญกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ทุกระดับ เพราะกรมสรรพากรเป็นกรมขนาดใหญ่ มีเจ้าหน้าที่ กว่า 20,000 คนทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่เพื่อรองรับ การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยในช่วงแรก มีการจัดประชุมทางไกล พร้อมเดินสายให้ความรู้แก่ข้าราชการ ทั่วประเทศ รวมทั้งการสร้างความเข้าใจกับผู้บริหาร เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาสามารถสร้างความเข้าใจกับผู้ใต้บังคับบัญชาว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีประโยชน์ นอกจากนี้ ยังมีการสื่อสารผ่านระบบอินทราเน็ต เพื่อให้ข้าราชการติดตามข้อมูลและวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงาน ค่าฐานในการคำนวณ ตลอดจนสร้างแรงจูงใจให้กับข้าราชการ โดยให้รางวัลกับผู้ได้รับผลการประเมินดีเด่น ส่วนผู้ไม่ผ่านการประเมิน กรมจะจัดโครงการเพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะ อันเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ ให้กับข้าราชการอีกทางหนึ่ง