ศ.ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล ประธานคณะทำงานด้านการสร้างความพร้อม และความเข้มแข็งให้สถาบันผลิตครู กล่าวว่า การสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันการผลิตครู ต้องการอาศัย 3 ปัจจัย 1. การสร้างความเข้มแข็งของคณาจารย์คุรุศาสตร์ พัฒนาตำแหน่งวิชาการและเส้นทางอาชีพที่มีศักดิ์ศรี เพิ่มวุฒิแลประสบการณ์ใหม่ ขยายสิทธิประโยชน์ตอบแทนผลงานดีมีประโยชน์ สร้างและบรรจุอาจารย์ใหม่แทนผู้เกษียณอายุ 2. ปรับหลักสูตรผลิตครูพันธ์ใหม่ เน้นทักษะกระบวนการเรียนรู้ สาระวิทยาการและทัศนคติ สร้างระบบอาจารย์ พี่เลี้ยงที่มีทักษะและประสบการณ์ กำหนดมาตรฐานภาษาอังกฤษและเทคโนโลยีสารสนเทศของผู้สำเร็จหลักสูตร 3. พัฒนาการบริหารจัดการ จัดตั้งกองทุนส่งเสริมคุรุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ มีการให้รางวัลนักคุรุศาสตร์ศึกษาศาสตร์
ด้าน รศ.สมบัติ นพรัก ประธานสภาคณบดีคณะคุรุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย อนุกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันผลิตครูในปัจจุบันมีความอ่อนด้อยทุกด้าน และยังขาดแคลนครูผู้สอน จึงควรกำหนดมาตรฐานของสถาบันจากข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ สถาบันผลิตครูที่เป็นของรัฐ จำนวน 68 แห่ง เสนอรับทุนโครงการครูพันธ์ใหม่เพียง 45 แห่ง เหตุผลที่บางสถาบันยังไม่เข้าร่วมโครงการ เพราะบางสถาบันไม่ผ่านเกณฑ์ สมศ.จากปัญหาดังกล่าวทำให้มีการกำหนดเกณฑ์เบื้องต้นขึ้นมา ได้แก่ 1. ให้มีการพัฒนาสถาบัน ซึ่งปีนี้มี 58 สถาบัน 2. รูปแบบการส่งเสริมความเข้มแข็ง ควรใช้วิธีหล่อหลอม บ่มเพาะ และจัดตั้งสถาบันผลิตเป็นวิทยาลัยการศึกษา 3. การพัฒนาครูถือเป็นหน้าที่ของสถาบันผลิตครู เนื่องจากปัจจุบันการพัฒนาครูถูกแยกส่วนไปตามสังกัด ไม่มีสถาบันหรือองค์กรกลางที่วางแผนร่วมกัน 4. ต้องร่วมมือกับสถานศึกษา เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ทั้งนี้ได้มีการเสนอแนวทางการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาสถาบันผลิตครูเป็นสัดส่วนตามภาระงาน เป็น 2 ส่วน คือ งบบริหารทั่วไปกับ งบสร้างความเข้มแข็งดูว่าสถาบันไหนที่ขาดแคลน มีภารกิจอะไรก็ให้สนับสนุนโดยตรง และการจัดสรรอัตรา
ทดแทนการขาดแคลนครู ต้องพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องประชากรที่ลดลงในอนาคต เพื่อไม่ให้เป็นเหมือนสถาบันผลิตครูในอดีต