อนาคตกุ้งไทยฉลุย สถาบันอาหารชี้ แนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องทั้งปี

พฤหัส ๒๒ กรกฎาคม ๒๐๑๐ ๑๗:๔๐
สถาบันอาหาร ฟันธงอนาคตกุ้งไทยสดใส ส่งออกเติบโตเกือบร้อยละ 12 ต่อปี ไตรมาสแรกปี 2553 คิดเป็นมูลค่า 20,594 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา กุ้งไทยมีโอกาสขยายตัวโดดเด่นต่อเนื่องจากปัจจัยบวก ทั้งเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และความได้เปรียบประเทศคู่แข่ง

นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยถึงแนวโน้มกุ้งไทยในตลาดโลกว่า “กุ้งไทยเป็นสินค้าที่มีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกสูงมาก ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาการส่งออกกุ้งของไทยเติบโตเฉลี่ยราวร้อยละ 12 ต่อปีสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของโลกที่ร้อยละ 4 ต่อปี จากความได้เปรียบด้านวัตถุดิบกุ้งที่มีคุณภาพสูง แรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีประสบการณ์และความชำนาญในการผลิตและแปรรูป รวมถึงมีความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้สูงกว่าคู่แข่ง นอกจากนี้ยังมีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยอาหารที่ดีและมีตลาดรองรับสินค้าที่แน่นอน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยผลิตกุ้งได้ราว 5 แสนตันต่อปี ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 80 หรือ 4 แสนตัน ใช้เพื่อการส่งออก สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้กว่า 90,000 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกกุ้งรวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกเหนือคู่แข่งอย่าง เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย และอินเดีย โดยในปี 2552 แม้การค้าในตลาดโลกจะหดตัวลงจากผลพวงด้านเศรษฐกิจซบเซา แต่การส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์แปรรูปของไทยก็ยังสามารถเติบโตได้ดี ครองส่วนแบ่งในตลาดโลกสูงถึงร้อยละ 23.9 โดยมีปริมาณการส่งออก 389,999 ตัน คิดเป็นมูลค่า 93,542 ล้านบาท หรือสูงราว ร้อยละ 12.23 ของมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารทั้งหมดของไทย ตลาดส่งออกกุ้งของไทยที่สำคัญอันดับ 1 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 48.9 รองลงไปคือ ญี่ปุ่น ร้อยละ 20.4 สหภาพยุโรป ร้อยละ 12.5 แคนาดา ร้อยละ 5.6 ออสเตรเลีย ร้อยละ 2.4 และเกาหลีใต้ ร้อยละ 2.1 เป็นต้น”

สำหรับในปี 2553 นี้การส่งออกกุ้งไทยมีโอกาสขยายตัวโดดเด่นต่อเนื่องจากปัจจัยบวก ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความได้เปรียบประเทศคู่แข่ง ปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวส่งผลให้ความต้องการบริโภคอาหารทะเลโดยเฉพาะกุ้งมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ประกอบกับการส่งออกกุ้งไทยยังได้รับอานิสงค์จากการที่ผลผลิตกุ้งของคู่แข่งสำคัญอย่างอินโดนีเซีย และบราซิล ลดปริมาณลงไปมากจากปัญหาโรคไวรัสกล้ามเนื้อขุ่น (IMN) ระบาดอย่างรุนแรง ขณะที่จีนประสบภาวะอากาศหนาวเย็นส่งผลให้ปริมาณผลผลิตมีน้อย จึงจำเป็นต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งสดมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ

ขณะที่ตลาดนำเข้าสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของน้ำมันจากแท่นขุดเจาะน้ำมันในบริเวณอ่าวเม็กซิโกซึ่งเป็นแหล่งการทำประมงสำคัญของสหรัฐฯ จึงคาดว่าจะส่งผลให้สหรัฐฯ มีความต้องการนำเข้าอาหารทะเลรวมทั้งกุ้งเพิ่มสูงขึ้นเพื่อชดเชยผลผลิตภายในประเทศ นอกจากนี้การส่งออกกุ้งของไทยไปยังสหรัฐฯ ยังได้รับประโยชน์จากการยกเลิกการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Antidumping : AD) จากสินค้ากุ้งแช่แข็งและกุ้งแปรรูป รวมทั้งการปรับลดเงื่อนไขการวางค้ำประกันการส่งออกโดยใช้วงเงินลดลง ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยบวกที่จะทำให้กุ้งไทยมีโอกาสสดใสในการขยายการส่งออกในปีนี้

นายอมร กล่าวอีกว่า “ในไตรมาสแรกของปีนี้ การส่งออกกุ้งของไทยมีปริมาณ 90,461 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 20,594 ล้านบาท ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.06 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวสูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ไม่มาก เช่น จีน เอกวาดอร์ และอาร์เจนติน่า แม้ว่าค่าเงินบาทของไทยจะอยู่ในระดับที่แข็งค่าเกินไปในมุมมองของผู้ส่งออก แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกกุ้งของไทยอย่างที่หลายฝ่ายกังวล เนื่องจากผลจากปัจจัยบวกที่กล่าวมาข้างต้นมีอิทธิพลมากกว่าปัจจัยลบที่มาจากการแข็งของค่าเงินจึงส่งผลให้การส่งออกกุ้งไทยไตรมาสแรกขยายตัวเพิ่มขึ้น และคาดว่าการส่งออกทั้งปีมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปีนี้แนวโน้มการส่งออกกุ้งของไทยจะสดใส แต่ผู้ประกอบการยังคงต้องให้ความสำคัญกับวิกฤตการณ์ทางการเงินรอบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นกับกรีซและกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นผู้นำเข้ากุ้งที่สำคัญอันดับ 3 ของไทย ที่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการสั่งซื้อในระยะยาว นอกจากนี้ว่าภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการและอำนาจซื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้บริโภคญี่ปุ่นยังคงระมัดระวังในการจับจ่าย และให้ความสำคัญกับระดับราคาเทียบเท่ากับความปลอดภัยในการเลือกซื้ออาหาร

รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : สุขกมล งามสม โทร. 08 9484 9894

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version