นายภักดี ไทยสยาม ประธานคณะกรรมการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า เปิดเผยว่า หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ในด้านการเรียนรู้ซึ่งมิได้มีเพียงแค่ในห้องเรียน หากแต่ความรู้ยังถูกแฝงอยู่ในทุกๆ แห่ง จึงจัดกิจกรรมเพื่อเยาวชนใน “โครงการเปิดโลกความรู้นอกห้องเรียนกับหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า” โดยเปิดฟาร์มเลี้ยงสุกรมาตรฐาน ที่ดำเนินงานโดยเกษตรกรกว่า 40 ราย เพื่อถ่ายทอดความสำเร็จในการประกอบอาชีพ และบอกเล่าที่มาของหมู่บ้านเกษตรกรรม ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นชุมชนต้นแบบด้านการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร และเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งศึกษาดูงาน และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงสุกรที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้กับผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศมาโดยตลอด
เกษตรกรในทุกคนพร้อมที่จะถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ด้านการเลี้ยงสุกร และการเกษตรอื่นๆ ตลอดจนกิจกรรมในชุมชน ให้แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งโรงเรียน และมหาวิทยาลัย บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานราชการ ผ่านกิจกรรมด้านการเกษตรอันหลากหลาย ทั้งนี้ผู้สนใจจะได้เข้าเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมกันนนี้ยังมีโอกาสลงมือปฏิบัติกิจกรรมด้านการเกษตรต่างๆ ด้วยตนเอง เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต และเปิดโลกทัศน์แก่เยาวชน ทั้งนี้ ถือเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน สำหรับนักเรียน นักศึกษา ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนความรู้ ขณะเดียวกันยังเป็นการปลูกฝังทัศนคติที่ดีในอาชีพเกษตรกรแก่เด็กและเยาวชน
หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา หนึ่งในโครงการซีพีเอฟเพื่อชีวิตยั่งยืน โดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เกิดขึ้นเมื่อปี 2520 จากการที่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในแนวพระราชดำริด้านการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร มาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการรวบรวมที่ดิน 1,253 ไร่ ซึ่งเป็นดินทรายที่เสื่อมสภาพ เพาะปลูกไม่ได้ผล เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นที่ดอน ในตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา มาจัดรูปที่ดินใหม่ แบ่งเป็นแปลงละ 24 ไร่ พร้อมจัดสร้างบ้านพักอาศัย และโรงเรือนสำหรับเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์ 30 ตัว และพ่อพันธุ์ 2 ตัว ให้กับเกษตรกร 50 ครอบครัว ผู้ที่มีฐานะยากจน ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง มีความขยัน และรักในอาชีพการเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปกับการเพาะปลูก ทั้งนี้ ซีพีเอฟให้การสนับสนุนด้านวิชาการ เทคโนโลยีการผลิตสุกรที่ทันสมัย พร้อมทั้งการจัดการด้านการตลาด และยังค้ำประกันวงเงินกู้ของกับสถาบันการเงิน เพื่อการลงทุนในระยะแรก นอกจากนี้ยังรับความเสี่ยงด้านตลาดและราคาแทนเกษตรกร ด้วยการรับซื้อผลผลิตคืนในราคาประกัน และยังสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรเรียนรู้ธุรกิจและมีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งไปพร้อมๆ กัน หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้าจึงมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เป็นชุมชนที่มีความแข็งแกร่งด้านอาชีพ และชาวหนองหว้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจวบจนถึงปัจจุบัน
โครงการเปิดโลกความรู้ฯ ดังกล่าว เปิดรับคณะนักเรียน นิสิต นักศึกษา ตั้งแต่ระดับชั้น ป.4 ขึ้นไป โดยรับเป็นหมู่คณะ ไม่เกิน 60 คนต่อคณะ โดยสามารถเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 — 17.00 น. ผู้สนใจสามารถติดต่อขอเข้าชมได้ที่ โทร. 038-557-081