ประธานศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ กล่าวถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการขับเคลื่อนโครงการมุมนมแม่ว่า “การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจตลอดจนสังคมวัฒนธรรมในปัจจุบัน ทำให้ตัวเลขอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทยในปีพ.ศ. 2549 ลดลงอย่างน่าวิตก ในทารกอายุ 5 เดือนแรกหลังเกิด พบเพียงร้อยละ 5.4 ต่ำกว่าจากมาตรฐานที่ร้อยละ 30 ขององค์การอนามัยโลก ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ ภาวะแม่ทำงานในยุคปัจจุบัน และการตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมคุ้มครองการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควบคู่กับการทำงานด้วยความสำคัญดังกล่าว องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ในอนุสัญญาฉบับที่ 183 ค.ศ. 2000 (The International Labour organization-ILO) ได้ระบุให้สถานประกอบการมีช่วงหยุดพักสำหรับแม่ให้นมลูก (Breastfeeding Break) มีสถานที่และอุปกรณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตลอดจนการสร้างค่านิยมความรับผิดชอบของสังคมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำหรับการขับเคลื่อนในประเทศไทยโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้บรรจุ “นโยบายมุมนมแม่ในสถานประกอบการ” ไว้ภายใต้แผนงานด้านส่งเสริมให้นายจ้างจัดสวัสดิการแก่ลูกจ้าง พ.ศ.2551 นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ประกาศเจตนารมณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สมัยที่ 98 ณ กรุงเจนีวา พ.ศ. 2552 เรื่อง การดำเนินมาตรการเชิงรุกเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองและสนับสนุนให้แรงงานหญิงสามารถทำงานรักษารายได้และขณะเดียวกันสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่”
นายชัยยุทธ์ ชำนาญเลิศกิจ กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะแกนกลางเชื่อมโยงสนับสนุนการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม กล่าวถึงการผลักดันโครงการฯ ว่า “ทางสถาบันฯ เชื่อมั่นว่าภาคธุรกิจ ได้ให้ความสำคัญต่อหญิงทำงานซึ่งนับว่าเป็นการทำ CSR โดยตรงต่อพนักงานที่จะส่งผลดีต่อการทำงาน และส่งผลต่อประสิทธิภาพและความเข้มแข็งขององค์กรในภาพรวม เป็นการขับเคลื่อน CSR ให้ดำเนินไปพร้อมๆ กับการทำงานของพนักงานองค์กร จึงเป็นโอกาสอันดีที่เกิดการขับเคลื่อน นโยบายมุมนมแม่ในสถานประกอบการ อย่างบูรณาการ จากผู้เชี่ยวชาญและภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทางสถาบันฯ พร้อมเป็นแกนกลางในการผลักดัน “โครงการ CSR มุมนมแม่ในสถานประกอบการ” แก่ภาคธุรกิจในเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นว่าภาคธุรกิจจะได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งแก่ตัวองค์กรเอง ตลอดจนส่งผลต่อการยกระดับมาตรฐานด้านแรงงานของไทยในระดับสากลอีกด้วย”
การสร้างความตระหนักถึงความสำคัญและผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์นั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมในระดับนโยบาย นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงการเข้าร่วมสนับสนุนว่า “สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เล็งเห็นความสำคัญของ “นโยบายมุมนมแม่ในสถานประกอบการ” ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่มีความสำคัญต่อการพัฒนารากฐานสังคมไทย และพร้อมเป็นกำลังร่วมขับเคลื่อนให้เกิดมุมนมแม่ในสถานประกอบการขึ้น ด้วยพลังจากเครือข่ายองค์กรหอการค้า มีสมาชิกที่เป็นภาคธุรกิจทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคกว่า 30,000 แห่ง มีพนักงานที่เป็นภาคแรงงานในสถานประกอบการจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานสตรี ซึ่งอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของการเป็นแม่ที่จะสร้างเยาวชนให้เติบโตและมีคุณภาพ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจากภาคธุรกิจในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ ย่อมเป็นกำลังสำคัญในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตสังคมไทยในระยะยาว”
ด้าน นางศรีวณิก หัสดิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กล่าวถึง การดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบาย CSR ภายใต้การนิคมและการเข้าร่วมเสริมหนุนโครงการมุมนมแม่ว่า “การนิคมฯ มีความตระหนักถึงบทบาทในการพัฒนาคุณภาพสังคม และชีวิตของพนักงานที่ปฏิบัติงานในสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งประชาชนที่อาศัยในพื้นที่รอบนิคมอุตสาหกรรม ให้มีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้น โครงการฯดังกล่าว จะเป็นโครงการที่มีความสำคัญในการสร้างความรับรู้ในความสำคัญของการเลี้ยงดูบุตรด้วยน้ำนมแม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นยาวิเศษขนานหนึ่งที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทารกแรกเกิด และช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน และยังจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาการด้านสมองของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มพนักงานในการนิคมฯ โดยในปัจจุบันมีพนักงานหญิงที่ทำงานอยู่ในองค์กรและสถานประกอบการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจำนวนมากที่อยู่ในภาวะการตั้งครรภ์ และช่วงเลี้ยงดูบุตรทารกแรกเกิด ทาง กนอ.พร้อมที่จะสนับสนุนให้องค์กรในพื้นที่การนิคมเกิดความตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแม่และเด็กที่อยู่ในองค์กร และร่วมสนับสนุนโครงการ CSR มุมนมแม่ในสถานประกอบการ”
ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรหลักในการขับเคลื่อน โดยการสนับสนุนการจัดตั้งมุมนมแม่ภายในสถานประกอบการ เชื่อมโยงองค์ความรู้และให้คำปรึกษาแก่สถานประกอบการในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตลอดจนดำเนินการติดตามผลและเชิดชูองค์กรต้นแบบ เพื่อสร้างความตระหนักแก่สังคมในวงกว้าง บริษัทที่มีความสนใจ สามารถติดต่อสอบถามและสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มายังศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย www.thaibreastfeeding.org โทร 0-2354-8404, 08-9792-5877, 08-9766-5489
สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229-2036 / กนกวรรณ เข็มมาลัย โทร.
0-2229-2048/ ณัฐยา เมืองแมน โทร. 0-2229-2043 สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม สกุลทิพย์ กีรติพันธวงศ์ โทร. 0-2229-2514-5,
0-2229-2394