แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสามารถดำรงสถานะทางการตลาดได้ต่อไปด้วยการรักษาฐานลูกค้าเดิมและขยายฐานลูกค้าใหม่ท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น และคาดว่าบริษัทจะรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรโดยการควบคุมต้นทุนและมีกำไรที่ต่อเนื่องจากการขายสินทรัพย์ให้เช่า
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทกรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส ให้บริการรถยนต์เช่าดำเนินงานทั้งแบบระยะยาวและระยะสั้น เมื่อพิจารณจากสินทรัพย์ให้เช่าสุทธิ บริษัทถือเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่อันดับ 3 จากจำนวนผู้ให้บริการ 25 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง หลังจากการปรับโครงสร้างเงินทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปลายปี 2548 สินทรัพย์ให้เช่าสุทธิของบริษัทก็เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จาก 1,283 ล้านบาทในปี 2547 เป็น 2,977 ล้านบาทในปี 2552 สินทรัพย์ให้เช่าสุทธิลดลงเล็กน้อยเป็น 2,890 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 ในปี 2552 รายได้จากการให้เช่ารถยนต์แบบระยะยาวคิดเป็นอัตราส่วน 95.2% ของรายได้ค่าเช่ารวม โดยเพิ่มขึ้นจาก 94.4% ในปี 2551 ณ สิ้นปี 2552 บริษัทมีรถยนต์ให้เช่า 5,597 คัน เพิ่มขึ้นจาก 4,995 คันในปี 2550 โดย 95.5% ของจำนวนรถยนต์ในปี 2552 ให้บริการภายใต้สัญญาเช่าระยะยาว และส่วนที่เหลือเป็นรถให้เช่าระยะสั้นและรถทดแทน ความสามารถในการหาลูกค้าใหม่และการรักษาฐานลูกค้าปัจจุบันเป็นสิ่งท้าทายสำหรับบริษัทในช่วงที่เศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัวอย่างรวดเร็วเมื่อปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้บริการรถเช่าที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสนับสนุนความพยายามในการรักษาฐานธุรกิจของบริษัทเนื่องจากหน่วยงานต่าง ๆ เริ่มตระหนักถึงประโยชน์จากการใช้บริการรถเช่ามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2553 คาดว่าจะช่วยให้บริษัทสามารถขยายขนาดสินทรัพย์ให้เช่า อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงทั้งจากผู้ประกอบการที่มีอยู่เดิมและรายใหม่ยังคงเป็นข้อจำกัดในการขยายธุรกิจและกดดันต่อเป้าหมายผลประกอบการของบริษัท
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทกรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส มีความได้เปรียบในการแข่งขันจากความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทที่เกี่ยวข้อง โดยในปี 2552 บริษัทจัดซื้อรถยนต์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ให้เช่าในสัดส่วน 72% ของรถยนต์ที่จัดซื้อทั้งปีผ่านตัวแทนจำหน่ายซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่คือตระกูลจันทรเสรีกุลเป็นเจ้าของ โดยเพิ่มขึ้นจาก 54% ในปี 2550 และ 65% ในปี 2551 การจัดซื้อรถยนต์จากตัวแทนจำหน่ายของผู้ถือหุ้นใหญ่ทำให้บริษัทได้ประโยชน์ด้านข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสนอพิเศษจากผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งช่วยให้บริษัทจัดซื้อรถยนต์ให้เช่าในราคาที่ต่ำกว่า และนอกจากการมีศูนย์บริการทั่วประเทศกว่า 500 แห่งซึ่งบริษัททำสัญญาทางธุรกิจด้วยแล้ว บริษัทยังเป็นเจ้าของศูนย์บริการของตนเองซึ่งทำให้สามารถควบคุมต้นทุนการบำรุงรักษาที่ไม่จำเป็นอันอาจเกิดจากศูนย์บริการภายนอกด้วย บริษัทจัดจำหน่ายรถยนต์ให้เช่าซึ่งหมดสัญญาเช่ากับลูกค้าแล้วผ่านทางบริษัทลูกคือ บริษัท กรุงไทย ออโตโมบิล จำกัด ด้วยประสบการณ์ของผู้บริหารของบริษัทกรุงไทย ออโตโมบิล และการได้รับการรับรองคุณภาพรถยนต์ใช้แล้วภายใต้ “โครงการโตโยต้าชัวร์” ช่วยให้บริษัทสามารถจำหน่ายรถยนต์ให้เช่าที่หมดอายุสัญญาในราคาที่สูงกว่าการจำหน่ายผ่านตัวแทนรับประมูลทั่วไป โดยบริษัทมีกำไรจากการขายรถยนต์ที่หมดสัญญาเช่าอย่างต่อเนื่อง
บริษัทใช้วิธีการตัดค่าเสื่อมราคาแบบเส้นตรงโดยไม่มีค่าซาก ดังนั้น ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันของสัญญาให้เช่า ค่าเสื่อมราคาของบริษัทมักจะสูงกว่าผู้ประกอบการรายอื่นที่ใช้การประเมินราคาตลาด ณ วันที่หมดสัญญาเช่าเป็นค่าซากในการคำนวณค่าเสื่อมราคา การแข่งขันที่รุนแรงผนวกกับผลกระทบจากนโยบายค่าเสื่อมราคาแบบอนุรักษ์นิยมในช่วงการขยายธุรกิจในปี 2549-2552 ส่งผลให้กำไรขั้นต้นจากธุรกิจให้เช่ารถยนต์ลดลงจาก 26.7% ในปี 2549 เป็น 19.2% ในปี 2552 อย่างไรก็ตาม นโยบายค่าเสื่อมราคาแบบอนุรักษ์นิยมจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทเมื่อมีการจำหน่ายสินทรัพย์ให้เช่าที่หมดอายุสัญญาแล้ว โดยจะสะท้อนในกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่า ทั้งนี้ การควบคุมต้นทุนการดำเนินงานและกำไรที่ได้รับเพิ่มจากธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มือสองยังช่วยเสริมความสามารถในการทำกำไรของบริษัท
ในปี 2552 บริษัทมีกำไรสุทธิ 268 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จาก 229 ล้านบาทในปี 2551 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 78 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2553 หรือเพิ่มขึ้น 27% จาก 61 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2552 กำไรสุทธิในไตรมาสแรกของปี 2553 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากเป็นผลมาจากกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าที่มีมากถึง 89 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ 52 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2551 อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 16.3% ในปี 2552 จาก 15.7% ในปี 2551 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 7.7% ในปี 2552 จาก 7.6% ในปี 2551 ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง บริษัทมีฐานะสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินในระดับปานกลาง โดยมีสภาพคล่องที่เพียงพอที่ได้รับจากค่าเช่าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ลักษณะของสินทรัพย์ให้เช่าซึ่งมีสภาพคล่องสูงในการจำหน่ายจะช่วยลดทอนความเสี่ยงด้านสภาพคล่องให้แก่บริษัทได้บางส่วน ทริสเรทติ้งกล่าว