นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ว่า “จากสถิติล่าสุดในปี 2553 พบว่าผู้หญิงและเด็กถูกทารุณกรรมกว่า 26,565 ราย หรือเฉลี่ย 73 รายต่อวัน ซึ่งร้อยละ 80 เป็นการถูกทำร้ายจากคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว โดยเราพบว่าคนทั่วไปมักจะเกิดความลังเลใจเมื่อพบการทะเลาะวิวาทกันในครอบครัวคนอื่น เพราะไม่รู้จะเข้าไปช่วยเหลืออย่างไร แท้จริงแล้วการช่วยเหลือเพื่อยุติความรุนแรงนั้น ต้องทำด้วยสติ และความระมัดระวังเช่นกัน เพื่อความปลอดภัยทั้งผู้ที่กำลังถูกทำร้าย และผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือเอง โดยขั้นตอนที่ดีที่สุด คือ หากพบความรุนแรง อย่าเพิกเฉย ให้โทรแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยทันที ที่ศูนย์ประชาบดี โทร. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือมูลนิธิเพื่อนหญิง โทร. 02-513-1001ได้”
ปัจจุบันได้มีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ที่กำหนดไว้ว่า “เพื่อนบ้าน” หรือ “ผู้พบเห็น” ที่พบการกระทำรุนแรงในครอบครัว สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้ โดยแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือตำรวจ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่กระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการร่วมรณรงค์ให้คนในสังคมทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักในการร่วมเป็น หนึ่งเสียงหยุดความรุนแรงต่อผู้หญิง สสส. และ มูลนิธิเพื่อนหญิง ร่วมกับ บริษัท แมคแคน อีรอคสัน ประเทศไทย จึงได้จัดทำ “ประตู” หยุดความรุนแรงต่อผู้หญิง สื่อกลางแจ้งรูปแบบใหม่ ลักษณะอินเตอร์แอคทีฟ (Interactive) ที่มีวิธีการทำงานของสื่อรณรงค์ คือ เมื่อมีคนเดินผ่านเซ็นเซอร์ จะมีเสียงผู้หญิงร้องขอความช่วยเหลือดังมาจากหลังประตู และเมื่อมีคนหันมามองก็จะพบข้อความ “หยุดเสียงนี้ด้วยมือคุณ” พร้อมลูกศรชี้ไปที่นามบัตร ซึ่งจะระบุหมายเลขโทรศัพท์ 02-513-1001 หรือ 1300 ซึ่งเป็นเบอร์โทรสำคัญที่พลเมืองดีสามารถโทร. ไปแจ้งเพื่อขอความช่วยเหลือ
ในการยุติความรุนแรง โดยเมื่อมีการหยิบนามบัตรที่อยู่ในกล่องออก เซ็นเซอร์ก็จะตัดเสียงผู้หญิงให้หยุดลง โดยการรณรงค์ครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนและเอื้อเฟื้อสถานที่ในการติดตั้งสื่อ “ประตู” หยุดความรุนแรง ณ ศูนย์การค้าเควิลเลจ สุขุมวิท 26
คุณนวลนภา ประมวลพิมพ์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด ศูนย์การค้าเควิลเลจ กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ “ศูนย์การค้าเควิลเลจ เป็นจุดนัดพบและแหล่งรวมของคนรุ่นใหม่ที่สัญจรไปมาตลอดวัน การติดตั้งสื่อรณรงค์ “ประตู” หยุดความรุนแรงต่อผู้หญิง ซึ่งเป็นสื่อที่มีความแปลกใหม่ น่าสนใจ จึงสามารถดึงดูดและสื่อสารกับผู้คนที่เดินผ่านไปมาได้อย่างดี สามารถสร้างความตระหนักให้คนในสังคมลุกขึ้นมาเป็นหูเป็นตา เมื่อพบการกระทำทารุณกรรม ต่อผู้หญิงและเด็กให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือมูลนิธิเพื่อนหญิง เพื่อเป็นการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที”
สื่อรณรงค์ “ประตู” หยุดความรุนแรงต่อผู้หญิง ติดตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าเควิลเลจ สุขุมวิท 26ตลอดเดือนสิงหาคมนี้ โดยคาดหวังว่าจะสามารถสร้างความตระหนักให้คนในสังคมเป็นหนึ่งเสียงหยุดความรุนแรงต่อผู้หญิง
สอบถามเพิ่มเติม : ปัทมาพร ไชยเชษฐ์พิพัฒกุล (จุ๋ม) โทร. 089-455-8686