ก.ไอซีที เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างกรอบนโยบาย ICT 2020

จันทร์ ๐๙ สิงหาคม ๒๐๑๐ ๑๐:๐๓
นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ต่อร่างกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระยะ พ.ศ.2554 - 2563 ของประเทศไทย (ICT 2020) ว่า ปัจจุบันสถานภาพทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย ที่ได้จากข้อมูลอ้างอิงของดัชนีหลักๆ ในระดับสากลที่นิยมใช้เป็นเครื่องวัดขีดความสามารถด้าน ICT ของประเทศนั้น แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีสถานภาพด้าน ICT ที่ไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย เช่น การจัดอันดับ The World Competitiveness Scoreboard ที่จัดทำโดย IMD ในปี 2010 ที่ประเมินคะแนนของแต่ละประเทศจากสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีด้วย พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 26 จากทั้งหมด 58 ประเทศ โดยอันดับไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า ขณะที่สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 1 จากเดิมที่ในปี 2009 อยู่ลำดับที่ 3 และมาเลเซียอันดับที่ 10 จากเดิมอันดับที่ 18

โดยในปี 2009 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีจุดอ่อนสำคัญในเรื่องโครงสร้างทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ซึ่งหากพิจารณาจากดัชนี Networked Readiness Index ที่จัดทำในปี 2009 - 2010 อันเป็นตัวชี้วัดด้านความพร้อมใช้ของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการพัฒนาและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศ ก็พบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 47 จาก 133 ประเทศ ซึ่งเป็นอันดับเดียวกับปี 2008-2009 ขณะที่สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 2 ดีขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่ในอันดับที่ 4 เช่นเดียวกับมาเลเซียที่เลื่อนลำดับจากที่ 28 ในปี 2008-2009 มาเป็นอันดับที่ 27 ในปี 2009-2010 ส่วนด้านอุตสาหกรรม ICT ซึ่งพิจารณาจากดัชนี IT industry competitiveness ที่จัดทำโดย EIU ในปี 2009 พบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 49 จาก 66 ประเทศที่มีการจัดอันดับ ขณะที่สิงคโปร์และมาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 9 และ 42 ตามลำดับ ดัชนีตัวชี้วัดดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงสถานภาพการใช้ ICT ของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันแล้ว ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขปรับปรุงอีกมากพอสมควร

นอกจากนี้ในส่วนของประเทศไทย ยังพบว่าผลการสำรวจการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของไทยยังไม่เต็มศักยภาพเท่าที่ควร ซึ่งผลการวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่ายังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยี ICT ที่ยังไม่ทั่วถึงในภาคส่วนต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในต่างจังหวัด ในภาคการศึกษา ที่ยังนำคอมพิวเตอร์ไปใช้ในการเรียนการสอนน้อย รวมทั้งในภาคการเกษตร ที่แทบไม่มีการนำเอา ICT ไปใช้เพิ่มผลิตภาพผลิตผล ขณะที่ในภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กก็ยังมีการนำเอา ICT ไปใช้น้อย และในส่วนของอุตสาหกรรม ICT แม้บางส่วนจะเริ่มมีการพัฒนาแต่ยังเป็นระยะเริ่มต้น ทั้งที่ ประเทศไทยมีความสามารถที่จะพัฒนาให้ได้ดีกว่านี้อีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการวิจัยพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ด้านการประยุกต์ใช้ ICT

“สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ย้ำเตือนให้ตระหนักว่าการเร่งพัฒนา ICT ถือเป็นภารกิจจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกๆ ภาคส่วนไม่ว่ารัฐหรือเอกชนจะต้องร่วมมือกันพัฒนาขีดความสามารถด้าน ICT ของประเทศอย่างเร่งด่วน จริงจัง และต่อเนื่อง ซึ่งเป็นที่มาของการจัดทำกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระยะ พ.ศ.2554-2563 หรือ ICT 2020 ฉบับนี้ ทั้งนี้ เป้าหมายของการพัฒนานั้นไม่ใช่เพียงเพื่อจะ ทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่อันดับที่ดีขึ้นทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายหลักที่มุ่งเน้นเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้นของชาวไทยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยโดยมี ICT เป็นเครื่องมือ” นายวิบูลย์ทัต กล่าว

สำหรับ (ร่าง) กรอบนโยบาย ICT 2020 ฉบับนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552 และมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2553 โดยมีเนื้อหาหลักประกอบด้วยยุทธศาสตร์สำคัญที่ครอบคลุมบริบททางสังคมและเศรษฐกิจของไทยในระยะอีก 10 ปีข้างหน้า รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับประเด็นใหม่ๆ ที่สอดรับกับกระแสและสภาวการณ์ของโลก เช่น ยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ ด้านอุตสาหกรรม ด้านสังคมการเมือง ด้านการศึกษา และด้านสุขภาพ รวมถึงการใช้จุดแข็งและโอกาสของประเทศไทยที่มีอยู่ให้ได้ผลดีมากที่สุดในเชิงยุทธศาสตร์

อย่างไรก็ตาม (ร่าง) กรอบนโยบายนี้ ยังไม่ใช่ฉบับสมบูรณ์ เนื่องจากต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ ด้วย ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ ขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อจะนำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่ได้มาปรับปรุงเพิ่มเติมในกรอบนโยบาย ICT 2020 แล้วจึงนำเสนอต่อคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อกรอบนโยบาย ICT 2020 เพื่อให้ทุกส่วนราชการได้ใช้เป็นกรอบแนวทางระยะยาวในการดำเนินการด้านการพัฒนา ICT ของประเทศต่อไป

“กระทรวงฯ หวังว่ายุทธศาสตร์และมาตรการในร่างกรอบนโยบายฉบับนี้ จะเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง มีความชัดเจน และสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด เพื่อให้ส่งผลดีต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลกได้ เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการใช้กรอบนโยบายในปี พ.ศ.2563” นายวิบูลย์ทัต กล่าว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021416747 MICT

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. สุขสนุกกับเทศกาลอีสเตอร์ด้วย Boozy Bunnies Brunch ที่ The Standard Grill
๑๑ เม.ย. Mrs. GREEN APPLE วงป็อปร็อกญี่ปุ่นชื่อดัง ส่งเพลงใหม่ KUSUSHIKI ฉลองครบรอบ 10 ปีอย่างยิ่งใหญ่เต็มรูปแบบ
๑๑ เม.ย. แลคตาซอย ส่งมอบนมถั่วเหลืองกว่า 70,000 กล่อง เสริมพลังกาย สร้างกำลังใจให้คนทุ่มเท ในการเดินทางช่วงสงกรานต์ 68
๑๑ เม.ย. สถาปนิก'68 เตรียมเปิดเวที ASA International Forum 2025 เชิญกูรูต่างประเทศร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างแรงบันดาลใจ
๑๑ เม.ย. มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ทุ่มงบกว่า 1 ล้านบาท ลงพื้นที่ สร้างสุข ใส่ใจ ผู้สูงวัย ในสถานสงเคราะห์ พร้อมแจกจ่าย ชุดของขวัญคลายร้อน
๑๑ เม.ย. คปภ. ทำงานร่วมกับ กทม. ลงพื้นที่ประสานงานกรณีตึกถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เร่งตรวจสอบสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยเพื่อดูแลผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน
๑๑ เม.ย. โบว์-วิน สาดออร่าคู่! เนรมิตสงกรานต์ไอคอนสยามสุดอลังการ ในลุคนางสงกรานต์-เทพบุตรสุดปัง! พิธีเปิดงาน ICONSIAM THAICONIC SONGKRAN CELEBRATION 2025
๑๑ เม.ย. รายการ หนูทดลอง Little Explorers EP ล่าสุด ชาบูโชว์ฝีมือการเป็นเชฟทำอาหาร และพาไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์สำหรับเด็ก
๑๑ เม.ย. ย้อนความเป็นมาวันสงกรานต์ พร้อมมีช่วงเวลาดี ๆ ไปกับวันเดอร์พัฟฟ์
๑๑ เม.ย. มหาสงกรานต์ ไอคอนสยาม เริ่มแล้ว!!! สัมผัสประสบการณ์สาดความสุข สนุกสไตล์ไทย ICONSIAM THAICONIC SONGKRAN CELEBRATION