นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินการของ กทช. ในการออกใบอนุญาตใหม่ ระบบโทรศัพท์ 3G ว่าหลังจากที่มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้เป็นขั้นตอนที่จะเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้เตรียมพร้อมในการยื่นข้อเสนอ ส่วนจะมีบริษัทเอกชนไทยและบริษัทต่างชาติจำนวนกี่รายน่าจะรู้ในวันที่ 30 สิงหาคม นี้ จากการประเมินของ กทช.เชื่อว่าบริษัทที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยทุกกลุ่มน่าจะเข้ามายื่นข้อเสนอส่วนบริษัทโทรคมนาคมต่างชาติก็จะเข้ามาเหมือนกัน ทั้งนี้มีข่าวว่าธนาคารพาณิชย์ในเมืองไทยหลายแห่งได้เตรียมเม็ดเงินเอาไว้จำนวนมากให้บริษัทเหล่านี้ได้กู้และอาจจะมีธนาคารพาณิชย์บางส่วนสนใจเข้าไปถือหุ้นในบริษัทที่มายื่นขอใบอนุญาตเพื่อมีส่วนในการบริหารด้วย
กรรมการ กทช.กล่าวต่อไปว่าจากการประมาณการรายได้ในการออกใบอนุญาตทั้ง 3 ใบครั้งนี้น่าจะอยู่ในวงเงิน 1 แสนล้านบาทโดยรายได้ดังกล่าว กทช.จะมอบให้รัฐบาลทั้งหมดไม่ถือว่าเป็นรายได้ของ กทช. เพราะฉะนั้นนอกเหนือจากการออกพันธบัตรรัฐบาลหลายครั้งที่ผ่านมาเพื่อหาเงินรายได้มาพัฒนาประเทศแล้ว รัฐบาลก็ต้องคิดว่าจะนำรายได้ดังกล่าวจาก กทช.ไปทำอะไรให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง ในความเห็นของ กทช. รัฐบาลอาจจะนำเงินรายได้จาก กทช.ส่วนหนึ่งไปอุดหนุนการบริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง เป็นการคืนกำไรให้กำประชาชนโดยสนับสนุนงบประมาณผ่านรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือ บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน)และบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) เพื่อขยายบริการและขยายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงบริการโทรคมนาคมด้วย
นายสุรนันท์ กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีที่รัฐบาลต้องการแปลงสัญญาสัมปทานในระบบ 2G มาเป็นการให้ใบอนุญาตแทนในช่วงที่ผ่านมว่า กทช.เคยให้ความเห็นไปแล้วว่ามีประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณาหลายประเด็น เช่น การยกเลิกสัมปทานจะยกเลิกโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้จะต้องเห็นชอบร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องรายได้ที่จะต้องคืนให้รัฐในแต่ละปีจะคำนวณกันอย่างไรในระยะเวลาสัมปทานที่เหลือเพราะรายได้ของแต่ละบริษัทก็ไม่เท่ากัน ระยะเวลาสัมปทานก็ไม่เท่ากัน แม้แต่การคำนวณรายได้ที่จะต้องคืนระหว่างรัฐกับเอกชนตัวเลขที่ออกมาก็ไม่เท่ากัน