ดังนั้น ประเทศไทย จึงได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม TELSOM ครั้งที่ 10 และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 9 (9th TELMIN) ให้ดำเนินโครงการต่อเนื่องในระยะที่ 2 ในวงเงิน 45,000 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการทำงานระหว่างผู้ให้บริการ CA ในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งเพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการทำงานระหว่างผู้ให้บริการ CA ในภูมิภาคอาเซียน และเป็นการขยายความร่วมมือด้านการทำ CA Interoperability ไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้
“การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการทำงานระหว่างผู้ให้บริการ CA ในภูมิภาคอาเซียนแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจเกี่ยวกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานกุญแจสาธารณะ (Public Key Infrastructure: PKI) ของประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งเพื่อส่งเสริมให้มีการยอมรับร่วมกันสำหรับการจัดทำ CA-CA Interoperability Framework ระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งผู้ให้บริการ CA สำหรับประเทศในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย” นายสือ กล่าว
สำหรับเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานกุญแจสาธารณะ (PKI) เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สามารถนำมาใช้ในการยืนยันตัวตนของบุคคลผู้ทำธุรกรรมนั้น รวมไปถึงการรักษาความลับของข้อมูล ความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล และการห้ามปฏิเสธการกระทำเมื่อมีธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้การติดต่อสื่อสาร การทำธุรกรรมในโลกอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันนี้มีความสะดวก รวดเร็ว และน่าเชื่อถือ โดยจะมีผู้ให้บริการออกใบรับรอง (Certification Authority: CA) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยืนยันตัวตนของบุคคลหรือสิ่งที่มีอยู่จริงว่ามีตัวตนจริงในโลกอิเล็กทรอนิกส์
โดยปัจจุบันประเทศในภูมิภาคอาเซียนหลายประเทศได้มีการจัดตั้งผู้ให้บริการ CA ขึ้น แต่ยังคงประสบปัญหาการทำงานร่วมกันระหว่างระบบ (Interoperability) เนื่องมาจากผู้ให้บริการในแต่ละประเทศมีรูปแบบการดำเนินงานที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถทำ Interoperability ระหว่างกันได้ ส่งผลให้ภาระตกอยู่กับผู้ใช้บริการ เนื่องจากเมื่อมีการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศเกิดขึ้น ผู้ใช้บริการจะต้องให้การยอมรับใบรับรองที่ออกโดยผู้ให้บริการจากประเทศอื่นๆ เอง โดยใบรับรองดังกล่าวอาจไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลให้ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่น ขณะเดียวกันก็ทำให้การทำธุรกรรมระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนไม่อาจเติบโตและแพร่หลายได้เท่าที่ควร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021416747 MICT