นางสาว ชุลีพร ชมพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิ ออฟโต จำกัด เปิดเผยถึงสภาพตลาดของกลุ่มธุรกิจแว่นตาในปีนี้ (2553) ว่า มูลค่ารวมของตลาดแว่นตายังคงตัวอยู่ที่ 5,500 บาทต่อปี เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมาและยังมีอัตราการการขยายตัวประมาณปีละ 5% แต่ในตลาดแว่นตาบางกลุ่มเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวและมีการแข่งขันกันสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการประเภทร้านแว่นเน้นไปใช้กลยุทธ์ด้านราคา ส่งเสริมการขาย และขยายตลาดในเชิงปริมาณ เพื่อกระตุ้นการซื้อและรักษายอดขาย ส่งผลให้คุณภาพของสินค้าและบริการเริ่มมีปัญหาความเชื่อมั่นจากกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้มีปัญหาด้านสายตา ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มหลักของตลาดเพราะตลาดแว่นสายตามีสัดส่วนสูงถึง 80% ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้เริ่มมองหาทางเลือกใหม่ ซึ่งไม่ใช่การเข้าไปใช้บริการของโรงพยาบาลเนื่องจากความไม่สะดวก จากช่องว่างดังกล่าวทำให้เกิดโอกาสใหม่ (Blue Ocean) ทางการตลาดขึ้น
ด้วยเหตุนี้ทำให้ ดิ ออฟโต ซึ่งมีความพร้อมทั้งเทคโนโลยีและประสบการณ์ด้านธุรกิจแว่นตา ได้อาศัยจังหวะและโอกาสทางการตลาดในการรุกเข้าถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีปัญหาด้านสายตาโดยตรง ด้วยการเปิด ดิ ออฟโต ศูนย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสายตาแห่งแรกของประเทศไทยขึ้น โดยมีระดับการให้บริการที่เหนือกว่าร้านแว่นตาทั่วไปและมีความน่าเชื่อถือเช่นเดียวกับโรงพยาบาล ด้วยเทคโนโลยีและอุปกรณ์การตรวจสายตาที่ทันสมัยที่สุดขณะนี้ พร้อมด้วยการตรวจวิเคราะห์ปัญหาทางด้านสายตาครอบคลุมถึง 11 ขั้นตอน ภายใต้การดู ให้คำแนะนำ และแก้ปัญหาด้านสายตาด้วยเลนส์ โดย นักทัศนมาตร (Optometrist) ซึ่งเป็นหมอผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาโดยตรง
สำหรับการลงทุนในเบื้องต้นของ ดิ ออฟโต นั้น อยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาท (ไม่รวมแวนตาและอุปกรณ์แว่นตาภายในร้าน) มีพื้นที่ให้บริการ 400 ตารางเมตร อยู่บนพื้นที่ชั้น G สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ลาดพร้าว ซึ่งถือว่าเป็นสถานีสำคัญและเป็นที่จอดรถขนาดใหญ่ของรถไฟฟ้าใต้ดิน สามารถเดินทางได้สะดวก ประหยัดเวลา และยังถือเป็นข้อได้เปรียบในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ของรถไฟฟ้าใต้ดินจะเป็นกลุ่มคนทำงาน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินเฉลี่ยสูงถึง 200,000 คนต่อวัน นอกจากนั้นยังพบว่าคนไทยส่วนใหญ่มีอัตราความเสี่ยงทีจะเกิดปัญหาด้านสายตาเพิ่มขึ้นในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วยอายุ 30-40 ปี โดยมีสาเหตุใหญ่มาจากการใช้ชีวิตประจำวันที่มีการใช้สายตามากขึ้น ทั้งการใช้งานคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์การสื่อสาร ที่มีการใช้งานมากและระยะเวลานานขึ้น จากข้อมูลดังกล่าวทำให้ ดิ ออฟโต วางเป้าหมายแรกจนถึงสิ้นปี 2553 ไว้ว่าจะมีผู้มาใช้บริการสูงถึง 30-50 รายต่อวัน และสร้างผลประกอบการได้ถึง 15 ล้านบาทก่อนสิ้นปีนี้ ส่วนปี 2554 น่าจะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดถึง 60 ล้านบาท
สำหรับกลยุทธ์การตลาดในช่วงแรกของ ดิ ออฟโต นั้น จะเป็นการสร้างความรู้จักและดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาทดลองใช้บริการ เพื่อสัมผัสถึงความแตกต่างและมาตรฐานการตรวจวัด พร้อมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจในความสำคัญของการตรวจวิเคราะห์ปัญหาด้านสายตา จาก นักทัศนมาตร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข เป็นประจำทุกปีเช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพ โดยได้เตรียมงบประมาณในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมทางการตลาดไว้ประมาณ 5 ล้านบาท จนถึงปลายปี โดยเลือก ตุ้ย ธีรภัทร์ สัจจกุล และ พิม ซอนย่า วัชรสินธุ์ (คูลลิ่ง) มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ (Presenter) ให้กับ ดิ ออฟโต เนื่องจากเป็นที่รู้จัก มีไลฟ์สไตล์เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นคนทำงานที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับในสังคม นอกจากนั้นยังมีแผนการจัดกิจกรรมโรดโชว์ ไปยังอาคารสำนักงานต่างๆ บริเวณใกล้เคียงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน และกิจกรรมส่งเสริมการขายเฉพาะในโอกาสสำคัญๆ ตลอดปีอีกด้วย