สรุปภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ ประจำเดือนกรกฎาคม 2553

พุธ ๑๑ สิงหาคม ๒๐๑๐ ๑๕:๒๙
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.34% จากสิ้นเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 855.83 จุด สอดคล้องกับทิศทางของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนในตลาดโลกมีความเชื่อมั่นในการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นหลังจากภาวะวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะของประเทศในยุโรปเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี สะท้อนจากผลการทดสอบความแข็งแกร่งของธนาคารพาณิชย์ที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจมหภาคในภูมิภาคและของไทยที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดีสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามายังตลาดในภูมิภาคและตลาดไทยอย่างต่อเนื่องในเดือนนี้ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ที่ปรับสูงขึ้นส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของ SET อยู่ที่ 6,914,777 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.40% จากเดือนก่อน

ในเดือนกรกฎาคม 2553 มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 30,411.16 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 54 เดือน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2549 และเพิ่มขึ้น 38.18% จากเดือนก่อนหน้า โดยนักลงทุนต่างประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ด้วยมูลค่าซื้อสุทธิ 6,825.70 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนบุคคลทั่วไปเป็นผู้ขายสุทธิ และมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 66.65% ของมูลค่าการซื้อขายรวม ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสุดในรอบ 68 เดือน

หากแยกมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ตามกลุ่มอุตสาหกรรม ในเดือนกรกฎาคม 2553 สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายในหมวดพลังงาน และปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ลดลงจากเดือนก่อนอย่างมาก สวนทางกับสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายในหมวดธนาคารและหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก และหากแยกตามกลุ่มหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) หลักทรัพย์ในกลุ่ม Non-SET 50 ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนในการซื้อขายในเกณฑ์สูงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายที่ 35.69% ของมูลค่าการซื้อขายรวม

การซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ในเดือนกรกฎาคม 2553 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวัน 13,954 สัญญา ลดลง 17.43% จากเดือนก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญจาก SET50 Index Futures ที่ลดลง 30.16% อย่างไรก็ตาม Single Stock Futures เป็นตราสารเดียวที่มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันเพิ่มขึ้น โดยเป็นปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันสูงสุดนับตั้งแต่เปิดทำการซื้อขายในเดือนกรกฎาคม 2553 บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนในรูปตราสารทุนมูลค่ารวม 386.03 ล้านบาท โดยมีบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ (IPO) 1 บริษัท คือ บริษัท ออฟฟิศเมท จำกัด (มหาชน) (OFM) มูลค่าระดมทุน 98.00 ล้านบาท และมีการระดมทุนในตลาดรอง 288.03 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนของ บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) (SVI) และบริษัท ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด (มหาชน) (TRS) เป็นสำคัญสำหรับภาพรวมการระดมทุนในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่าอยู่ที่ 49,788.31 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 210.30%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

1. ภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ไทย

ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2553 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.34% จากสิ้นเดือนก่อน ซึ่งจัดเป็นอันดับสองของภูมิภาค รองจากตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ และเพิ่มขึ้น 16.51% จากสิ้นปี 2552 มาอยู่ที่ระดับ 855.83 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 31 เดือน ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของ SET อยู่ที่ 6,914,777 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.40% จากเดือนก่อน การเปลี่ยนแปลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในเดือนนี้สอดคล้องกับทิศทางของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาคที่ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการที่นักลงทุนในตลาดโลกมีความเชื่อมั่นในการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นหลังจากภาวะวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะของประเทศในยุโรปเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น จากผลการทดสอบความแข็งแกร่งของธนาคารพาณิชย์ (Stress Test) ในยุโรปที่ระบุว่า มีธนาคารเพียง 7 แห่งที่ไม่ผ่านการทดสอบจากทั้งหมด 91 แห่ง ทำให้ต้องเพิ่มทุนรวม 3,500 ล้านยูโร ซึ่งเป็นผลที่ดีกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แม้ว่าดัชนีเศรษฐกิจมหภาคยังสะท้อนให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังขยายตัวอย่างช้า ๆ และมีความเปราะบางอยู่ ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจมหภาคในภูมิภาคและของไทยที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดีสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามายังตลาดในภูมิภาคและตลาดไทยอย่างต่อเนื่องในเดือนนี้ สำหรับดัชนีตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai Index) ปิดที่ 243.71 จุด เพิ่มขึ้น 5.58% จากเดือนก่อน ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 46,835 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.41% จากเดือนก่อน

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากในเดือนกรกฎาคม 2553 ส่งผลให้ อัตรากำไรสุทธิต่อหุ้นคาดการณ์ (Forward P/E Ratio) ของไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 12.33 เท่า จาก 11.53 เท่าในเดือนก่อน แต่อัตรากำไรสุทธิต่อหุ้นคาดการณ์ (Forward P/E Ratio) ของไทยยังคงต่ำกว่าทุกตลาดในภูมิภาค ยกเว้นเกาหลีใต้เท่านั้น ขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทนของไทยยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค โดยอยู่ที่ 3.63% ซึ่งสูงเป็นอันดับสองรองจากฟิลิปปินส์

2. ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์

ในเดือนกรกฎาคม 2553 SET และ mai มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันสูงสุดในรอบ 54 เดือนนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2549 โดยในเดือนกรกฎาคม มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 30,411.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.18% จากเดือนก่อน และเพิ่มขึ้น 70.65% จากเดือนกรกฎาคม 2552 ทำให้มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ของ SET และ mai รวมอยู่ที่ 608,223.22 ล้านบาท

เมื่อพิจารณามูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์รวมของ SET และ mai แยกตามประเภทนักลงทุน พบว่า นักลงทุนต่างประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ด้วยมูลค่าซื้อสุทธิ 6,825.70 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2553 นักลงทุนต่างประเทศยังคงเป็นผู้ขายสุทธิ 10,708.55 ล้านบาท ขณะที่ในเดือนนี้นักลงทุนบุคคลทั่วไปเป็นผู้ขายสุทธิ 2,428.63 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 3,683.54 ล้านบาทหลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 2 เดือน ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ในเดือนนี้เป็นผู้ขายสุทธิด้วยมูลค่า 713.53 ล้านบาท ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคมนักลงทุนบุคคลทั่วไปมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 66.65% ของมูลค่าการซื้อขายรวม ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสุดในรอบ 68 เดือน

มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์แยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า ในเดือนกรกฎาคม 2553 สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายในหมวดพลังงาน และปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มีสัดส่วนลดลงจากเดือนก่อนอย่างมาก จาก 22.24% และ 7.71% มาอยู่ที่ 14.63% และ 3.32%ตามลำดับ โดยสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายในหมวดพลังงานลดลงอย่างมากต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งสวนทางกับสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายในหมวดธนาคารและหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก จาก 20.62% และ 6.61% มาอยู่ที่ 24.75% และ 10.45% ตามลำดับ

สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายแยกตามกลุ่มหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) เปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อน สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุด 10 อันดับแรก (SET10) ในเดือนกรกฎาคม 2553 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจาก 30.03% ในเดือนก่อน เป็น 28.39% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุดอันดับ 31-50 (SET31-50) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 10.42% ในเดือนก่อนเป็น 13.24 % ในเดือนกรกฎาคม 2553 ในขณะที่หลักทรัพย์ในกลุ่ม Non-SET50 ยังคงมีสัดส่วนมากที่สุดที่ 35.69%

3. จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์

จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนมิถุนายน 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนมีนาคม — พฤษภาคม 2553 จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนมิถุนายน 2553 มีทั้งสิ้น 142,644 บัญชี ทั้งนี้ สัดส่วนของบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือน (Active Rate) อยู่ที่ 24.22% และมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อบัญชีอยู่ที่ 3.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่มีสัดส่วนของบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนอยู่ที่ 23.23% และมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อบัญชีอยู่ที่ 2.84 ล้านบาท

จำนวนบัญชีการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตและมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยในเดือนมิถุนายน 2553 จำนวนบัญชีอินเทอร์เน็ตที่มีการซื้อขาย (Active Account) ในเดือนเท่ากับ 55,829 บัญชี เพิ่มขึ้น 7.61% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยมีมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น 119,177.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงถึง 47.68% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ทั้งนี้ สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตต่อมูลค่าการซื้อขายรวมในเดือนมิถุนายน 2553 อยู่ที่ 24.61% เพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยจาก 21.09% ในเดือนก่อน

4. สรุปภาวะตลาดอนุพันธ์

ในเดือนกรกฎาคม 2553 ตลาดอนุพันธ์มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวัน 13,954 สัญญา ลดลง 17.43% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจาก SET50 Index Futures ที่ลดลง 30.16% อย่างไรก็ตาม ในเดือนนี้ Single Stock Futures เป็นตราสารเดียวที่มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้น 15.79% จากเดือนก่อน และ Single Stock Futures มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการซื้อขายในเดือนพฤศจิกายน 2551

5. ภาพรวมการระดมทุน

ในเดือนกรกฎาคม 2553 บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนในรูปตราสารทุนมูลค่ารวม 386.03 ล้านบาท โดยแยกเป็นการระดมทุนจากบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ (IPO) 1 บริษัท คือ บริษัท ออฟฟิศเมท จำกัด (มหาชน) (OFM) มูลค่าระดมทุน 98.00 ล้านบาท และเป็นการระดมทุนในตลาดรอง 288.03 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนของ บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) (SVI) มูลค่าระดมทุน 83.69 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท และการระดมทุนของบริษัท ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด (มหาชน) (TRS) มูลค่าระดมทุน 50.00 ล้านบาท เพื่อปรับโครงสร้างกิจการ เป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมการระดมทุนในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่าอยู่ที่ 49,788.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 210.30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าระดมทุน 16,074.23 ล้านบาท

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. S-E-T Call Center 0-2229-2222

ติดต่อส่วนประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229—2036 /

กนกวรรณ เข็มมาลัย โทร. 0-2229—2048 / ณัฐยา เมืองแมน โทร. 0-2229-2043

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม