กำไรสุทธิรวมของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ 7 แห่ง ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 1 (เพิ่มขึ้น 4.1) เนื่องจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลงซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ สำหรับช่วงครึ่งปีแรกปี 2553 ธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL (อันดับเครดิต ‘BBB+’/แนวโน้มมีเสถียรภาพ) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB (อันดับเครดิต ‘BBB’/แนวโน้มมีเสถียรภาพ) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK (อันดับเครดิต ‘BBB+’/แนวโน้มมีเสถียรภาพ) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB (อันดับเครดิต ‘BBB+’/แนวโน้มมีเสถียรภาพ) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY (อันดับเครดิต ‘BBB’/แนวโน้มมีเสถียรภาพ) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB (อันดับเครดิต ‘BBB-’/แนวโน้มเป็นลบ) และ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB (อันดับเครดิต ‘BB’/เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นบวก) มีกำไรสุทธิรวมที่ 49.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% จากช่วงครึ่งปีแรกปี 2552
วินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการของ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด และนักวิเคราะห์อาวุโสในส่วนสถาบันการเงินของฟิทช์ ให้ความเห็นว่า “ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 2 ของธนาคารส่วนใหญ่ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อและการลดลงของการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมาจะอ่อนแอ คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมมิได้ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้เงินกองทุนที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องที่สูงของธนาคารพาณิชย์ไทย รวมทั้งสถานะทางการเงินที่เข้มแข็งขึ้นของลูกค้ารายย่อยและภาคธุรกิจ สามารถช่วยรองรับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงได้อย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา”
อัตราส่วนด้านการทำกำไรของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของสินเชื่อในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 (เพิ่มขึ้น 5.3% จากไตรมาสที่ 2 ปี 2552) ธนาคารพาณิชย์เอกชนขนาดใหญ่ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ BBL KBANK และ SCB ยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งกว่าอุตสาหกรรม โดยมีกำไรสุทธิและอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวม (ROA) อยู่ในระดับที่สูง SCB มีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมอยู่ในระดับสูงสุดคิดเป็นอัตรารายปีที่ 1.7% ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 อย่างไรก็ตามธนาคารมีกำไรสุทธิลดลง 16.7% จากไตรมาสที่ 1 มาอยู่ที่ระดับ 5.3 พันล้านบาท เนื่องจากไม่มีรายได้เงินปันผลจากกองทุนวายุภักษ์และกำไรจากการปริวรรตเงินตราต่างประเทศที่ลดลง กำไรสุทธิของ BBL ที่ 6.9 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 13.1% จากไตรมาสที่ 1 ส่วนหนึ่งมาจากการขายเงินลงทุนในธนาคารสินเอเชีย จำกัด (มหาชน) ให้แก่ Industrial and Commercial Bank of China สำหรับ KBANK มีกำไรสุทธิที่ 5.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.2% จากไตรมาสที่ 1 เนื่องจากรายได้จากสินเชื่อและค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น
KTB มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 9.7% จากไตรมาสที่ 1 เป็น 3.4 พันล้านบาท กำไรสุทธิของ BAY ที่ 2.1 พันล้านบาทในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน หลังจากที่มีกำไรสุทธิเติบโตขึ้นอย่างมากในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 เนื่องจากการเข้าซื้อกิจการในปี 2552 ผลการดำเนินงานของ TMB ปรับตัวดีขึ้น โดยมีกำไรสุทธิที่ 0.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.9% จากไตรมาสที่ 1 ปี 2553 อย่างไรก็ตามการเติบโตของรายได้ยังคงอยู่ในระดับที่อ่อนแอ เนื่องจากสินเชื่อของธนาคารยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง กำไรสุทธิของ SCIB เพิ่มขึ้น 14.9% จากไตรมาสที่ 1 เป็น 1.2 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง ในขณะที่กำไรสุทธิของธนาคารธนชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK (‘A(tha)’/เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นบวก) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังการเข้าซื้อกิจการของ SCIB ในส่วนของอัตราส่วนกำไรดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคารพาณิชย์ไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.4% (สำหรับธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ 7 แห่ง) อยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของธนาคารในประเทศมาเลเซียซึ่งอยู่ที่ 3% ไม่มากนัก แต่ยังคงต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของธนาคารในประเทศอินโดนีเซียที่6% และ ประเทศฟิลิปปินส์ที่ 4% อย่างไรก็ตามอัตราส่วนกำไรดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทยยังมิได้นับรวมค่าใช้จ่ายเงินนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (0.4% ของเงินฝาก) ทั้งนี้หากรวมค่าใช้จ่ายดังกล่าวอัตราส่วนกำไรดอกเบี้ยสุทธิน่าจะลดลงเหลือ 3% นอกจากนี้ฟิทช์ยังมองว่าธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงมีภาระจากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่เกิดขึ้นจากวิกฤติการทางการเงินปี 2540 ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ในประเทศอื่น
คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ไทยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของระบบธนาคารพาณิชย์ (งบการเงินเฉพาะธนาคาร) ลดลงจากไตรมาสที่ 1 ประมาณ 15 พันล้านมาอยู่ที่ 4.4% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 (4.6% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553) ในขณะที่สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษของระบบธนาคารพาณิชย์เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิมที่ประมาณ 3% ของสินเชื่อรวม ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ KBANK มีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่ำที่สุด (3.6% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553) ในขณะที่ TMB มีอัสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษอยู่ในระดับสูงที่สุด แต่ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44 พันล้านบาท (12.6% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 จาก 54.4 พันล้านบาท (14.8% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นปี 2552 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการจำหน่ายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มูลค่า 9.3 พันล้านบาทออกไป ส่วน BAY ก็อยู่ระหว่างสรุปการจำหน่ายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มูลค่า 5 พันล้านบาทในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 เช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลงเหลือประมาณ 6.5% ภายในสิ้นปี 2553
การเปิดเผยข้อมูล: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (ซึ่งธนาคารกสิกรไทยถือหุ้น 100%) ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (ซึ่งธนาคารกสิกรไทยถือหุ้นทางตรงและทางอ้อมรวม 38.3%) ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด ซึ่งถูกถือหุ้น 100% โดย บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัด แห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับเครดิตที่จัดโดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตหาได้ที่ www.fitchratings.com ในการจัดอันดับเครดิตของบริษัทฯ นี้ ฟิทช์ได้ใช้หลักเกณฑ์ตาม Global Financial Institution Criteria ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552 และ National Ratings-Methodology Update ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549
ติดต่อ
พชร ศรายุทธ; นฤมล ชาญชนะวิวัฒน์; Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4755