All We Need is Love …มองชีวิต ผ่านละคร

จันทร์ ๑๖ สิงหาคม ๒๐๑๐ ๑๖:๔๒
หลายคนอาจเคยได้ยินวลีที่ว่า “ดูละครแล้วย้อนดูตัว” ซึ่งหมายความถึงละครสะท้อนความเป็นตัวตน สะท้อนสภาพของสังคมในปัจจุบัน สะท้อนสิ่งที่แปรเปลี่ยนไปในสังคม สะท้อนความคิดของมนุษย์

แต่สำหรับ “ป๊อบอาย” แล้วกลับพบว่า “ละคร” ทำให้เขาเข้าใจคนอื่นและเข้าใจสังคมมากขึ้น นายศุภรัตน์ นัดดาหลง หรือ “ป๊อบอาย” อดีตศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า โครงสร้างอังกฤษ-คณิตศาสตร์ เล่าถึงที่มาที่ไปของตนเองกับละครจิตอาสาว่ามีที่มาจากโครงการของเครือข่ายหน้ากากเปลือย ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามาดำเนินโครงการในโรงเรียน พวกเราจึงจัดตั้งชมรมละครขึ้นเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว โดยมีพี่ๆ จากหน้ากากเปลือยเข้ามาสอนทักษะการแสดง และทักษะการทำละครทุกอย่างให้พวกเรา โดยแบ่งบทบาทหน้าที่ตามความถนัดของแต่ละคน ซึ่งเหตุผลที่ “ป๊อบอาย” เข้ามาร่วมกระบวนการนี้เพียงเพราะว่า อยากลองทำอะไรที่แปลกใหม่ดูบ้าง และคิดว่า “ละคร” น่าจะตอบโจทย์ตัวเองได้

ปีแรก “ป๊อบอาย” รับหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการ ต้องดูแลลูกทีมกว่า 40 คน แต่ท้ายที่สุดเหลืออยู่เพียงไม่กี่คนเท่านั้น เพราะกว่าจะมาเป็นละครได้เรื่องหนึ่งทุกคนต้องผ่านการซ้อมอย่างหนัก ซึ่งเพื่อนๆ บางคนอาจไม่สะดวกที่ต้องมาซ้อมและอาจกลับบ้านดึกบ้างในบางวัน รวมทั้งเวลาไปแสดงละครข้างนอกก็อาจจะมีปัญหากับผู้ปกครองบ้าง จึงเหลือคนที่สนใจที่สุด 16 คน

“กว่าจะได้ออกมาเป็นละครต้องซ้อมกันหนักมาก ทั้งที่โรงเรียนและที่โรงละครหน้ากากเปลือย มีการ workshop กันอย่างต่อเนื่อง ไหนจะต้องทำการบ้าน ไหนต้องซ้อม กลับบ้านดึกดื่นทุกวัน และ 3 วันสุดท้ายก็ต้องมาเตรียมความพร้อมที่เวทีอีก 3 วัน ก่อนจะได้แสดงจริงที่สถาบันปรีดีพนมยงค์ และที่โครงการสีสันหน้ากากใหม่ เทศกาลละครกรุงเทพฯ”

“ป๊อบอาย” เล่าว่า ละครเรื่องแรกที่ทำคือเรื่อง All We Need is Love โดยมีแนวคิดว่า “เราทุกคนต้องการความรัก” เป็นละครสองเรื่องเล็กๆ ต่อกัน กล่าวถึงความรักระหว่างวัยรุ่นกับครอบครัว เป็นเรื่องของเด็กคนหนึ่งกำลังจะตัดสินใจเลือกเรื่องเรียนว่าจะไปเรียนหมอหรือเป็นนักแสดงดี คุณแม่อยากให้เป็นหมอ บังคับให้ไปเรียนพิเศษ บังคับให้ทำนั่นทำนี่ แต่ตัวเองอยากจะเป็นนักแสดงไม่ได้อยากเป็นหมอ ส่วนอีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องของเพื่อนที่สนิทกันมาก จนวันหนึ่งต้องมาผิดใจกันในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

ความรู้สึกต่อการแสดงครั้งแรกของ “ป๊อบอาย” คือ ประทับใจกับเพื่อนร่วมงาน ผู้ชม แม้จะต้องเหน็ดเหนื่อยจากการแสดงทั้งหมดวันละ 3 รอบตลอด 2 วัน “เพราะเป็นครั้งแรกของกลุ่ม จึงตื่นเต้นเล็กน้อย แต่ว่าเมื่อทำออกมา ก็พอใจกันทุกคน มีผู้ชมทั้งนักเรียนและผู้ปกครองมาดูกันมากพอสมควร และมีผลตอบรับที่ดี”

ละครให้อะไรกับวัยรุ่น “ป๊อบอาย” บอกว่า ละครนั้นให้ผลไม่ต่างกับกิจกรรมพัฒนานักเรียนอื่นๆ แต่ต่างกันที่กระบวนการและวิธีการของละครที่มีรูปแบบเป็นของตนเอง และตอบสนองความต้องการของนักเรียนได้ แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดก็ตาม เพราะบางคนอาจจะไม่ชอบละคร แต่ชอบเล่นกีฬา แต่บางคนชอบเล่นละครหรือชอบร้องเพลง แต่สำหรับ “ป๊อบอาย”แล้วสิ่งได้เพิ่มเติมจากละครนั้นมีมาก เช่น ได้ฝึกฝนความอดทน ต้องกลับบ้านดึกทุกวัน ถ้าอดทนไม่ไหวก็ไม่สำเร็จ ฝึกการทำงานเป็นทีม เพราะละครไม่ได้เล่นคนเดียว ต้องเล่นทุกคน ต้องมาซ้อมด้วยกัน ฝึกระเบียบวินัย ต้องมาให้ตรงเวลา ฝึกเรื่องความเสียสละ ทั้งเวลาและเรื่องส่วนตัว จากที่เคยไปเดินเล่นที่ห้างหรือไปสนุกสนานกับเพื่อนๆ ก็ต้องหยุดชั่วคราว เพราะต้องมาทำละคร แต่ก็รู้สึกสนุกและมีความเมื่อได้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบ

ส่วนเพื่อนๆ นั้น “ป๊อบอาย” บอกว่า หลายๆ คนมีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้น เพื่อนบางคนใจร้อน ขี้โวยวาย ก็ใจเย็นขึ้น เพราะละครทำให้ต้องคิด วางแผน และทำงานเป็นระบบมากขึ้น แม้จะไม่ใช่เด็กเรียนเต็มตัว แต่ผลจากละครทำให้เพื่อนทั้งหมดในกลุ่มมีที่เรียนทุกคน ละครไม่ได้กระทบเรื่องการเรียน เพราะไม่ได้ใช้เวลาเรียน แต่อยู่ที่การแบ่งเวลาเป็นหรือไม่เป็นมากกว่า ในแง่ความสัมพันธ์กับเพื่อน “ป๊อบอาย” บอกว่า “ละคร” ช่วยให้ตนมีพัฒนาการทางความคิดมากขึ้น มองโลกมองสังคมเปลี่ยนไป แม้ไม่ใช่เปลี่ยนแบบพลิกเลยทีเดียว แต่ก็พัฒนามากขึ้น จากที่เคยใช้อารมณ์ ก็หันมาใช้สติ ใช้ความคิดในการมองมากขึ้น ผลที่เกิดขึ้นในตัว “ป๊อบอาย” คือเดิมที่ใจร้อน รู้สึกว่าเริ่มใจเย็น และมีสติมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องความอดทน ระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา การทำงานเป็นทีม การทำงานอย่างเป็นระบบ การคิดวิเคราะห์ การรู้จักสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เพราะในอนาคตเราต้องพลเจออะไรหลายอย่าง ทักษะการใช้ชีวิตเหล่านี้ “ละคร” ทำให้เราได้เรียนรู้มากขึ้น

“ด้วยระบบการศึกษามีอะไรหลายอย่างยังไม่เอื้ออำนวยมากนัก ถ้าหน่วยงานข้างนอกไม่เข้ามา กิจกรรมดีๆเหล่านี้บางครั้งแทบจะเกิดขึ้นไม่ได้ในโรงเรียน เพราะหลักสูตรทำให้ต้องเรียนอย่างเดียว อีกอย่างหนึ่งบุคลากรที่มีคุณภาพซึ่งจะมาทำกิจกรรมแบบนี้ยังมีน้อย”

“ป๊อบอาย” บอกว่าในฐานะที่เป็นวัยรุ่นคนหนึ่ง อยากให้ทุกคนที่ยังไม่ค้นพบตัวเอง ลองกล้าที่จะทำอะไรแปลกใหม่หรือแตกต่างออกไป ทุกอย่างมีประโยชน์ อยู่ที่เราจะปรับใช้ ถ้าใช่ก็จะได้กับตัวเราเต็มๆ ถ้าไม่ใช่เราก็เปลี่ยนใหม่ อย่างน้อยเราก็มีประสบการณ์ ทำให้เรามีอะไรมากกว่าคนอื่น มีโอกาสที่จะได้ทำอะไรที่คนอื่นไม่ได้ทำหรือทำได้ยาก และอยากบอกกับเพื่อนๆเด็กเรียนว่า การเรียนรู้นอกห้องเรียนสำคัญมาก ในห้องเรียนเราเรียนเราก็รู้แค่ในหนังสือ เราเรียนนอกห้องเรียนคือเรามาเรียนการใช้ชีวิตจริงๆ การอยู่ร่วมกันในสังคมจริงๆ ซึ่งเราจะเจอในอนาคต ละครมีประโยชน์พอเรามาเรียนต่อที่เราต้องรู้จักปรับตัว มีมนุษยสัมพันธ์กับเพื่อนๆ และแม้ว่าจะจบการศึกษาไปแล้ว ถ้ามีโอกาส “ป๊อบอาย” ก็อยากพัฒนาความสามารถด้านนี้ต่อไป

กระบวนการละครเป็นการสร้างความเข้าใจในตนเอง สร้างความนับถือในตนเอง และเคารพในตนเองเพื่อได้โตขึ้นและนำสิ่งเหล่านี้ไปให้คนอื่น คือขั้นเริ่มต้นของการเข้าใจในตนเอง ก่อนที่จะพัฒนาสู่ขั้นเชื่อมโยงกับสังคม เพราะเด็กต้องเข้าใจตนเองเพื่ออยู่กับสังคมที่ประกอบด้วยตัวเอง พ่อ แม่ เพื่อนฝูง แต่หลังจากนั้นเขาก็ต้องมองสังคมมากขึ้น มองและเข้าใจว่าอะไรที่เป็นช่องว่างของสังคม เมื่อเด็กมองเห็นและเข้าใจสังคมมากขึ้นแล้ว ปัญหาความขัดแย้งที่เคยมีอยู่ในสังคมไทยก็คงจะหมดไปในไม่ช้า

สอบถามข้อมูลและภาพประกอบเพิ่มเติมได้ที่ 0 — 2270 — 1350 - 4

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ