ดังนั้น การฝึกซ้อมฯ นี้จึงมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติ แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ รวมทั้งแผนปฏิบัติการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ 17 ด้าน ไปสู่การปฏิบัติในระดับกระทรวง ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น รวมถึงเพื่อบริหารจัดการสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง ที่เกินขีดความสามารถในการจัดการปัญหาของศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจจังหวัด โดยจำเป็นต้องจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจส่วนหน้าเพื่อระดมสรรพกำลังของทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนเพื่อนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาสนับสนุน แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน และเชื่อมโยงเครือข่ายฐานข้อมูลในการบริหารจัดการวิกฤตการณ์ระดับชาติ
การฝึกซ้อมฯ ในครั้งนี้ได้จำลองสถานการณ์การเกิดพายุไต้ฝุ่นที่ทำลายระบบสาธารณูปโภค และส่งผลกระทบต่อการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินประชาชนในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราดและพื้นที่โดยรอบ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องระดมกำลังจากหน่วยงานของรัฐ และทุกภาคส่วนเข้าไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการฝึกซ้อมฯ ได้ดำเนินการใน 2 รูปแบบ คือ การฝึกซ้อมในระดับฝ่ายอำนวยการ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงเป็นประธาน เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกได้ตรวจสอบความชัดเจนของนโยบาย แผน กฎหมาย ระเบียบ แผนปฏิบัติการฉุกเฉินของแต่ละหน่วยงาน และเตรียมความพร้อมก่อนการฝึกภาคสนาม ส่วนรูปแบบที่สอง คือ การฝึกซ้อมภาคสนาม เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานจริง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนผู้เข้าร่วมการฝึกซ้อม ประกอบด้วย หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน สมาคม มูลนิธิ และประชาชน รวม 2,000 คน
“สำหรับกระทรวงไอซีที ได้ร่วมฝึกซ้อมฯ โดยดำเนินการตามกรอบแผนปฏิบัติการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบ บูรณาการระดับกระทรวงด้านการแจ้งเตือนภัยและด้านการสื่อสาร ซึ่งกระทรวงฯ ได้เตรียมความพร้อมด้านการแจ้งเตือนภัยไว้เป็นลำดับ คือ ให้กรมอุตุนิยมวิทยาติดตามการเคลื่อนตัวของพายุอย่างใกล้ชิดและออกประกาศตามห้วงเวลา ขณะที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติประเมินผลกระทบจากพายุที่อาจจะเป็นอันตราย พร้อมออกประกาศแจ้งเตือนภัยความรุนแรงของภัยไปยังพื้นที่ประสบภัย โดยอาศัยข้อเท็จจริงในพื้นที่ประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งผลจากการประกาศแจ้งเตือนภัยจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มปฏิบัติตามแผน และ หอเตือนภัยในพื้นที่จะส่งสัญญาณแจ้งเตือนภัย
หลังจากที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ประกาศแจ้งเตือนภัยแล้ว เครือข่ายเพื่อนเตือนภัยที่จัดตั้งขึ้นจะช่วยกระจายข่าวการ เตือนภัยให้ประชาชนในพื้นที่ทราบอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้เพื่อนเตือนภัยและนักวิทยุสมัครเล่นที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ยังช่วยรายงานข้อเท็จจริงของสถานการณ์ภัยพิบัติ และเหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ด้วย” นายสือ กล่าว
ส่วนการเตรียมพร้อมด้านการสื่อสารนั้น กำหนดให้มีความพร้อมปฏิบัติตั้งแต่ในยามปกติและสามารถดำรงการสื่อสารไว้ตลอดเวลา โดยได้กำหนดคลื่นความถี่วิทยุกลางสำหรับการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ คือ คลื่นความถี่ 142.425 MHz/ 147.425 MHz ในย่าน VHF และคลื่นความถี่ 449.025 MHz และ 454.025 MHz ในย่าน UHF เป็นข่ายสื่อสารหลักในการประสานงานระหว่างหน่วยงานซึ่งเป็นข่ายสื่อสารพิเศษที่ได้รับอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ให้สามารถใช้ในการประสานงานระหว่างหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจที่แต่เดิมยังไม่มีการนำมาใช้งาน โดยนายกรัฐมนตรีสามารถติดต่อประสานงานผ่านข่ายสื่อสารวิทยุกลางกับหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติได้ทุกหน่วย เพื่อให้สามารถสอบถามรวมทั้งใช้สั่งการได้ในกรณีที่ระบบสื่อสารอื่นไม่สามารถใช้งานได้
“นอกจากนี้กระทรวงฯ ยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจขึ้น โดยระดมทรัพยากรที่ได้กำหนดไว้ตามแผนปฏิบัติการแบบ บูรณาการระดับกระทรวงเตรียมพร้อมเอาไว้ ซึ่งในเหตุการณ์การฝึกซ้อมฯ กำหนดให้ระบบการสื่อสารปกติได้รับความเสียหายใช้งานไม่ได้ ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจจึงให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัด ได้แก่ บมจ.ทีโอที บมจ.กสท โทรคมนาคม ช่วยเร่งรัดซ่อมระบบสื่อสารโทรคมนาคมที่ได้รับความเสียหาย พร้อมทั้งให้นำรถสื่อสารโทรคมนาคมเคลื่อนที่เร็วลงไปเสริมให้สามารถใช้การสื่อสารในพื้นที่ประสบภัยโดยเร่งด่วนเป็นการชั่วคราวก่อนที่จะซ่อมคืนระบบการสื่อสารให้กลับคืนสู่สภาพปกติ ขณะเดียวกันได้ประสานงานกับ กทช. เพื่อให้ช่วยเร่งรัดผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์มือถือในพื้นที่ให้ซ่อมระบบที่ได้รับความเสียหายให้คืนสภาพปกติโดยเร็ว
ขณะเดียวกันกระทรวงฯ ยังได้สถาปนาระบบการสื่อสารโทรคมนาคมในพื้นที่เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารและใช้งานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทั้งระบบหลักโดยใช้ข่ายวิทยุความถี่กลางในการประสานงานภาคราชการและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงระบบสื่อสารคู่ขนานโดยเครือข่าย “วิทยุสมัครเล่น” ซึ่งเป็นระบบคู่ขนานสำรองที่สามารถติดต่อสื่อสารได้ตลอดเวลา เพื่อทดแทนระบบการสื่อสารหลัก ที่ได้รับความเสียหายเป็นการแก้ปัญหาเรื่องการติดต่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้แล้วทั่วทุกพื้นที่ประสบภัยพิบัติด้วย” นายสือ กล่าว
การเข้าร่วมการฝึกซ้อมครั้งนี้ถือเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติขั้นร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งระบบการแจ้งเตือนภัยก่อนเกิดเหตุ หรือแม้แต่ขณะเกิดเหตุเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่ต้องมีการวางแผนและทดสอบระบบให้พร้อมในการปฏิบัติการอยู่เสมอ ขณะเดียวกันระบบการติดต่อสื่อสารก็ถือเป็นหัวใจของการควบคุมบัญชาการเหตุการณ์ เมื่อเกิดสาธารณภัยที่มีความรุนแรงโดยเฉพาะจากพายุฝน หรือแม้แต่หลายเหตุการณ์ เช่นดินโคลนถล่มในพื้นที่ทางภาคเหนือทำให้การสื่อสารถูกตัดขาด หรือแม้แต่กรณีที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากเป็นผลให้ระบบสื่อสารขัดข้องได้ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงได้วางแผนดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อรับมือกับภัยพิบัติดังกล่าวอย่างเป็นระบบ และสามารถบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021416747 MICT