สพร.ระดมกูรูถอดรหัสภูมิปัญญา “เครื่องรางของขลัง” ชี้ “ยันต์” ไม่ใช่ไสยศาสตร์ แต่ซ่อน “พุทธะ” อยู่ภายใน

อังคาร ๒๔ สิงหาคม ๒๐๑๐ ๑๒:๕๒
สพร.จัดเวทีสัมมนาระดับชาติ ระดมนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องรางของขลัง เปิดประเด็นความรู้ในมิติวิชาการ เผยภูมิปัญญาโบราณที่ถูกซ่อนอยู่ “ยันต์” คือ “พุทธธรรม” ชี้สังคมไทยปัจจุบันเชื่อเฉพาะด้านไสยศาสตร์ขาดเหตุผล

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ร่วมกับ ศูนย์คติชนวิทยา คณะอักษรศาสตร์ และ สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเวทีสัมมนาวิชาการระดับชาติเรื่อง “เครื่องรางของขลัง วัฒนธรรมชาวพุทธในสุวรรณภูมิ” เมื่อวันที่ 19-20 สิงหาคมที่ผ่านมา ระดมนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้รู้ในศาสตร์แขนงต่างๆ กว่า 20 ท่านร่วมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเครื่องรางของขลัง เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องเครื่องรางของขลังในมิติด้านวิชาการ พร้อมกันนี้ยังได้เปิดตัวหนังสือ “เลขยันต์ : แผนผังอันศักดิ์สิทธิ์” ที่ได้รับการสนับสนุนการจัดพิมพ์จาก สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ ราชบัณฑิต ได้กล่าวถึงเครื่องรางของขลังในสังคมไทยไว้ระหว่างการปาฐกถานำการสัมมนาฯ ว่าเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของคนไทยสมัยโบราณ ที่เป็นกุศโลบายให้คนมุ่งเข้าหาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา

“น่าเสียดายว่าคนในยุคสมัยนี้กลับไม่สนใจที่จะค้นหาและสืบทอดแก่นที่แท้จริงวิชาความรู้เหล่านี้ ทั้งผู้ที่จัดสร้างและผู้ที่นำไปบูชา โดยหันไปมุ่งเน้นในเรื่องผลที่จะได้รับหรือผลด้านไสยศาสตร์ และผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ทำให้ภูมิปัญญาที่เชื่อโยงกับหลักคำสอนตามหลักพระพุทธศาสนาที่มีคุณค่ากลายเป็นความเชื่อที่งมงายไร้สาระ” อ.จุลทัศน์ระบุ

นายนัฐธัญ มณีรัตน์ ผู้เขียนหนังสือเลขยันต์ฯ ได้เปรียบเทียบเรื่องเครื่องรางของขลังว่าเป็นเปลือกของต้นไม้และแก่นในที่แท้จริงคือพุทธธรรม ซึ่งคนไทยในปัจจุบันมีความเข้าใจในระบบเลขยันต์น้อยมาก โดยเชื่อเรื่องเลขยันต์ไปในทางไสยศาสตร์มากกว่าเหตุผล ทั้งๆที่ตำราคัมภีร์ระบบเลขยันต์ของครูบาอาจารย์รุ่นโบราณ จะมุ่งเน้นการฝึกจิตให้มีศีล สมาธิและปัญญา

“สังคมไทยเชื่อเรื่องยันต์เพียงแค่จะมีโชคลาภหากนำมาบูชา แต่ไม่มีใครเลยที่จะรู้ว่าหัวใจของยันต์นั้นคืออะไร ซึ่งอักขระหรือตัวเลขที่เขียนอยู่ในยันต์นั้นแท้ที่จริงแล้วเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่ย่อหลักธรรมคำสอนตามหลักพระพุทธศาสนาเอาไว้ อย่างคำว่า นะ โม พุท ธา ยะ ก็เป็นอักขระที่ย่อมาจากคาถาหัวใจพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ซึ่งหมายถึงชื่อย่อของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ในภัทรกัปนี้ หรือแทนขันธ์ทั้ง 5 หมายถึงความว่างเปล่า ไม่มีตัวตนเป็น รวมไปถึงคาถาจากคัมภีร์ต่างๆ ที่ใช้ก็นำมาจากพระสูตร แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนโบราณ ที่สามารถอธิบายได้ในเชิงวิชาการ” ผู้เขียนหนังสือเลขยันต์กล่าว

รองศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา ผอ.ศูนย์คติชนวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เรื่องของเลขยันต์เป็นศาสตร์ชั้นสูง เป็นภูมิปัญญาโบราณที่มีเหตุและผลทางทฤษฏี และมีระบบระเบียบประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรม

“องค์ความรู้ในส่วนที่เป็นนามธรรมที่มีความเชื่อมโยงกับหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาได้ขาดการสืบทอดไปเพราะเป็นความรู้ที่ได้เฉพาะตน สิ่งที่หลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบันคือสิ่งที่เป็นรูปธรรมประกอบไปด้วยเลข สัญลักษณ์ รูปแบบ อักขระลายเส้นต่างๆ ซึ่งจะหาผู้ที่สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ทั้ง 2 ส่วนนี้เข้าด้วยกันในปัจจุบันค่อนข้างยาก การระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านในครั้งนี้จึงเป็นการช่วยขยายความรู้ ไม่ให้ภูมิปัญญาเหล่านี้ถูกมองในมิติด้านไสยศาสตร์เพียงด้านเดียว” อ.สุกัญญาระบุ

ผู้เชี่ยวชาญด้านยันต์สาขาต่างๆ อาทิ นายเชษฐา ฉายาสถิต ผู้เชี่ยวชาญยันต์สายหลวงปู่ศุข, ดร.กังวล คัชชิมา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญยันต์เขมร, อาจารย์สวิง บุญเจิม ผู้เชี่ยวชาญยันต์อีสาน และนักวิชาการท่านอื่นๆ ต่างกล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า รูปแบบของยันต์ในมีความคล้ายคลึงกัน โดยส่วนใหญ่จะใช้อักษร “ขอม” เป็นตัวเขียนซึ่งเป็นการใช้แทนภาษา “บาลี” ที่ไม่มีตัวเขียน และตัวเขียนในยันต์ล้วนเป็นอักษรย่อจากคาถาต่างๆ จากพระสูตรหรือคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นบันทึกไว้อีกทีหนึ่ง

“เลขยันต์ไม่ได้เป็นความเชื่อที่งมงาย แต่เป็นกุศโลบายในการดึงคนให้เข้าสู่ธรรมะเบื้องสูง อย่างยันต์ที่เขียนว่า อุ อา กะ สะ คือคาถาหัวใจเศรษฐีที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้ อุ ย่อมาจากคำว่า อุฏฐานสัมปทา แปลว่า ให้ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร อา ย่อมาจากคำว่า อารักขสัมปทา แปลว่า ให้ถึงพร้อมด้วยการรักษาคุ้มครองทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ กะ ย่อมาจากคำว่า กัลยาณมิตตตา แปลว่า การมีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว สะ ย่อมาจากคำว่า สมชีวิตา แปลว่า การเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ ซึ่งถ้าหากไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมทั้ง 4 ประการนี้ก็ไม่มีทางรวยได้ ครูบาอาจารย์ในสมัยโบราณท่านจะสอนเพื่อให้คนได้เข้าถึงธรรมะ” พระครูปลัดสิทธิสังวร วัดราชสิทธิธาราม ผู้เชี่ยวชาญยันต์สายวัดพลับระบุ

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) กล่าวว่า เครื่องรางของขลังเป็นมรดกภูมิปัญญาที่มีการผสมผสานกันระหว่างความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณกับศาสนาพุทธ พราหมณ์ และฮินดู แต่ยุคปัจจุบันที่ทุนนิยมครอบงำสังคมไทย ภูมิปัญญาเหล่านี้กลับถูกมองว่าเป็นเรื่องงมงาย ไร้สาระ มอมเมา เพราะคนไทยหันไปเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์มากกว่าความเชื่อดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับการฝึกจิตตามแนวทางของพระพุทธศาสนา ทั้งๆ ที่องค์ความรู้เหล่านี้มีความสอดคล้องกับทฤษฏีฟิสิกส์สมัยใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติจึงได้เปิดเวทีสัมมนาในครั้งนี้เพื่อที่จะรวบรวมองค์ความรู้เรื่องเครื่องรางของขลังของคนไทยในมิติวิชาการ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องระบบยันต์ของไทยรวมถึงเครื่องรางของขลัง และเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นพันธกิจหนึ่งของสถาบันฯ ที่จะช่วยต่อยอดขยายองค์ความรู้ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาของคนไทย ให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆในวงวิชาการและการศึกษาต่อไป” ดร.ณรงค์ชัยกล่าว.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO