กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--สวทช.
สวทช.— กรมสรรพากร ช่วยผู้ประกอบการ “แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์” ลดต้นทุน งานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างเมล็ดพันธุ์พืชลูกผสม ที่มีคุณภาพเหมาะสมกับการเพาะปลูกตามสภาพอากาศในประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต ช่วยให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้ง ยังช่วยยกระดับผลผลิตพืชส่งออกที่สำคัญของไทย แข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ ผ่าน “มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลถึง 200%”
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีการส่งออกสินค้าทางการเกษตรเป็นมูลค่าที่สูงติดอันดับโลก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศส่งออกอื่นๆ อาทิ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันผลผลิตต่อพื้นที่ของพืชไร่ที่สำคัญบางชนิด ยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ ซึ่งวิธีการเพิ่มผลผลิตในพืชดังกล่าวสามารถทำได้หลายวิธี แต่ที่ถือเป็นหัวใจของเกษตรกรก็คือ “เมล็ดพันธุ์” เพราะถ้าได้เมล็ดพันธุ์ที่ดี ให้ผลผลิตสูง และเหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศที่ปลูก นั่นหมายถึง “รายได้" ที่ดีขึ้นของเกษตรกร
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเองก็มีศักยภาพและความพร้อมด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการวิจัยและการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งจากการส่งเสริมของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการทางภาษีที่รัฐส่งเสริม กระตุ้นให้ภาคเอกชนหันมาสนใจลงทุนงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศมากขึ้น ดังเช่น มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ของบริษัทที่ลงทุนเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เป็นจำนวนร้อยละ 100 หรือ อีกนัยหนึ่ง คือ สามารถหักค่าใช้จ่ายสำหรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีได้เป็น 2 เท่า หรือ 200% ของค่าใช้จ่ายจริง
นายพาโชค พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ สนใจเข้ามาทำธุรกิจเมล็ดพันธุ์ในไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีพื้นที่เพาะปลูกพืชขนาดใหญ่ ซึ่งน่าจะมีการใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีในพืชไร่ที่สำคัญหลายชนิดในปริมาณสูง ประกอบกับบริษัทฯ มีเทคโนโลยีเกี่ยวกับพันธุ์พืชลูกผสมในข้าวโพดไร่ ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดหวาน ข้าวฟ่าง ทานตะวัน และพืชอาหารสัตว์ ซึ่งเหมาะสมที่จะแนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตได้ จึงได้เริ่มเข้ามาตั้งหน่วยงานวิจัยเมล็ดพันธุ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 ดำเนินการค้นคว้าพัฒนาพันธุ์พืชลูกผสมที่ผลผลิตสูงแนะนำเกษตรกรทั่วไป รวมทั้งได้ดำเนินการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานของภาครัฐ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเทคโนโลยีพันธุ์พืชลูกผสมที่ได้รับความนิยมในขณะนี้
“จากที่เป็นบริษัทฯ ในเครือ ADVANTA มีงานวิจัยค้นคว้าพัฒนาพันธ์พืชลูกผสมที่มีผลผลิตสูงและจากจุดเริ่มต้นที่เป็นหน่วยงานเล็กๆ ปี 2518 ได้เปลี่ยนมาเป็นศูนย์วิจัยพันธุ์พืชลูกผสมโดยการจัดตั้งสถานีวิจัยฯ ขึ้นในปี 2523 เพื่อทำการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพด ข้าวฟ่างเขตร้อนขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนงานวิจัยจากนักวิชาการของบริษัทฯ ประเทศออสเตรเลีย เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวโพด - ข้าวฟ่างที่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศในประเทศไทย และได้เริ่มงานด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม “แปซิฟิค 9” ซึ่งนับเป็นบริษัทเมล็ดพันธุ์พืชไร่รายแรก ที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมประสบผลสำเร็จในเชิงการค้า และในปี 2536 ได้เริ่มทำวิจัยเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวาน จนถึงปัจจุบันนี้ บริษัทฯ สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์พืชลูกผสมออกจำหน่ายปีละกว่า 3,000 ตัน มียอดขายในปีที่ผ่านมากว่า 450 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อน และคาดว่าในปี 2548 นี้ จะเพิ่มขึ้นอีก 10%” นายพาโชค กล่าว
นอกจากนี้นายพาโชค ยังกล่าวอีกว่า “เนื่องจากงานวิจัยพันธุ์พืชลูกผสมในปัจจุบันนี้ ต้องอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ หลายด้านมาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้ดีขึ้น และต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ขณะที่บริษัทฯ ถือเป็นบริษัทขนาดกลาง มีการลงทุนทางด้านงานวิจัยปีหนึ่งๆ ประมาณ 19-20 ล้านบาท ซึ่งต้องยอมรับว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับผู้ประกอบที่ทำการวิจัย และพัฒนาฯ ตามมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 200% จากกรมสรรพากรนั้น ถือเป็นเรื่องที่ภาครัฐให้การสนับสนุนภาคเอกชนอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการกล้าที่จะลงทุน เพราะอย่างน้อยยังได้รับผลประโยชน์คืนกลับมาจากมาตรการดังกล่าวเปรียบเหมือนภาครัฐมาร่วมลงทุนด้วย จึงถือเป็นมาตรการที่ดีในการกระตุ้นให้เอกชนสนใจลงทุนในงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นในประเทศได้ ”
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว เป็นความร่วมมือกันระหว่างกรมสรรพากร กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยบริษัทฯ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล200% จะต้องได้รับการรับรองโครงการการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชลูกผสม จากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการรับรองโครงการวิจัยและพัฒนา (RDC : RESEARCH AND DEVELOPMENT CERTIFICATION COMMITTEE SECRETARIAT) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก่อน จึงจะยืนขอรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้
สำหรับผลที่ได้รับจากโครงการวิจัยฯ นี้ ทำให้มีพันธุ์พืชที่ดีซึ่งสามารถให้ผลผลิตสูง ทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง มีความต้านทานโรค และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี และสามารถส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปใช้ในการเพาะปลูกเป็นการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ผลผลิตรวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้น ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มคุณภาพของผลผลิตที่ได้รับทำให้สามารถส่งออกไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้
ด้าน นายมนตรี คงแดง ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า “สาเหตุที่ต้องทำการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก็เพราะเกษตรกรต้องการพันธุ์ที่ดีที่สุดตลอดเวลา ดังนั้น เรื่องของงานวิจัยฯ จึงหยุดไม่ได้ ต้องหาพันธุ์ใหม่ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะพันธุ์ที่เราคัดเลือกได้ในวันนี้ อาจไม่ตอบสนองความต้องการของเกษตรกรในวันข้างหน้า ซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะการแข่งขันในตลาดฯ สภาพแวดล้อมการเพาะปลูกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งเรื่องของภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง หรือโรคระบาดในพืช โดยวงจรของพันธุ์พืชส่วนใหญ่จะมีระยะเวลาประมาณ 5 — 8 ปี เท่านั้น ในขณะที่กว่าจะวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างพันธุ์พืชลูกผสมที่คุณภาพดีเหมาะสมกับการเพาะปลูกที่ตอบสนองเกษตรกรได้สัก 1 พันธุ์จะต้องใช้เวลานานถึง 8 ปี บางพันธุ์อาจนานถึง 10 ปีเลยทีเดียว จึงจำเป็นที่จะต้องมีการวิจัยฯ คัดเลือกพันธุ์ใหม่ที่ดีกว่าออกมาทดแทนอยู่ตลอดเวลา”
แต่จากกระแสความต้องการใช้พลังงานทดแทน ทำให้ปัจจุบันเกษตรกรเริ่มหันไปปลูกมันสำปะหลัง และอ้อยเพิ่มมากขึ้น โดยพืชทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นเอทานอลและแก๊สโซฮอลล์ ซึ่งอาจทำให้มีรายได้ดีกว่าเนื่องจากราคาผลผลิตปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการ และส่งผลกระทบให้ปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดโดยรวมลดลง แต่ปริมาณความต้องการใช้ข้าวโพดสำหรับเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ยังคงมีอยู่สูง ทำให้ผู้บริหารของบริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด ยังคงเชื่อมั่นว่า ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ยังคงมีแนวโน้วที่ดีอย่างต่อเนื่อง ตามการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ และตั้งเป้าจะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดอย่างมีนัยสำคัญในธุรกิจเมล็ดพันธุ์พืชไร่ที่มีมูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี
ปัจจุบัน มีบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ 5 ราย ขณะที่บริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด เป็นผู้นำอันดับ 1 ในตลาดเมล็ดพันธุ์พืช 5 ชนิด คือ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวฟ่าง ทานตะวัน และหญ้าอาหารสัตว์ ซึ่งในอนาคตกันใกล้นี้ บริษัทฯ ได้วางแผนที่จะขยับขึ้นมาเป็นผู้นำอันดับต้นๆ ติด 1 ใน 3 ในตลาดข้าวโพดไร่ ภายใต้วิสัยทรรศน์ของบริษัทฯ ที่ต้องการขึ้นมาเป็น “ ผู้นำในวงการเมล็ดพันธุ์ลูกผสม ” ในอนาคต
ด้วยความมุ่งมั่นของบริษัท แปซิฟิค เมล็ดพันธุ์ จำกัด ที่จะพัฒนา และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชที่มีคุณภาพเป็นเลิศ เพื่อรับประกันถึงความสำเร็จ และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไทย โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการวิจัยเพื่อพัฒนาให้ได้พันธุ์ลูกผสมที่มีคุณภาพดี ภายใต้ แบรนด์ “แปซิฟิค” โดยบริษัทฯ ยังได้รับการรับการรับรองมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9001:2000
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ
สอบถามรายละเอียดของโครงการ RDC
เพิ่มเติมได้ที่
สนง.เลขานุการคณะกรรมการรับรองโครงการฯ
โทร. 0-2564-7000 ต่อ 1328 — 1331 หรือที่ เว็บไซด์ www.nstda.or.th/rdc
( สื่อมวลชนที่ต้องการ ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ คุณนก ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ ITAP โทร.0-2619-6187, 8 )--จบ--
- ม.ค. ๒๕๖๘ ภาพข่าว : รับมอบเมล็ดพันธุ์
- ม.ค. ๒๕๖๘ ภาพข่าว: SUN ลงนามยกระดับข้าวโพดหวานอุตสาหกรรม
- ม.ค. ๒๕๖๘ 4 องค์กรใหญ่ หนุนเกษตรกรปลูกทานตะวัน