การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร โดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร เรื่อง “สถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต” มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย นายนภดล
ศิวะบุตร รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ร่วมให้รายละเอียดและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่เป็นองค์กรในการรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center เพื่อเผยแพร่ข้อมูลภาวะอุตสาหกรรมธุรกิจเกษตรและอาหารทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
สำหรับอุตสาหกรรมอาหารในช่วงไตรมาส 2 ปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสแรก แต่อัตราขยายตัวลดต่ำลง โดยภาคการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 จากที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 ใน ไตรมาสแรก ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าในอัตราร้อยละ 6.5 และ 8.5 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกมีมูลค่า 206,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 จากที่ขยายตัวร้อยละ 24.2 ในไตรมาสแรก
สินค้าอาหารส่งออกที่หดตัวลง ได้แก่ ปลาทะเลแช่แข็งและแปรรูป ผักผลไม้สดและแปรรูป ซึ่งปัญหาหลักมาจากการขาดแคลนวัตถุดิบ ส่วนการส่งออกข้าวมีอัตราลดลงเนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับข้าวของประเทศคู่แข่งได้ โดยราคาข้าวที่สูงของไทยส่งผลให้ผู้บริโภคแอฟริกาหันไปนำเข้าข้าวจากแหล่งอื่นรวมทั้งบริโภคธัญพืชอื่นทดแทนข้าวไทย ส่วนตลาดข้าวในตะวันออกกลางความต้องการข้าวลดลง อันเป็นผลสืบเนื่องจากการประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงต้นปี ทำให้ต้องปรับลดแรงงานต่างชาติจำนวนมาก
นายอมร กล่าวต่อว่า “โดยภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 อุตสาหกรรมอาหารไทยขยายตัวทั้งภาคการผลิตและส่งออก โดยดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 56.1 เมื่อเทียบกับร้อยละ 51.4 ในช่วง 6 เดือนแรกของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 122,488 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 ส่วนการส่งออกมีมูลค่า 411,463 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 เมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกของปีก่อน สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกขยายตัวสูงกว่า ร้อยละ 40 ได้แก่ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ น้ำตาลทราย อาหารสัตว์ น้ำมันปาล์ม และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขณะที่การส่งออกเครื่องปรุงรส กุ้ง และน้ำผักผลไม้ มูลค่าส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 10-20 ส่วนการส่งออกข้าว ปลาแช่แข็ง และผลไม้สด ลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 ตลาดส่งออกอาหารของไทยเปลี่ยนแปลงไปไม่มากจากช่วง 3 ปีก่อน โดยมีตลาดใหญ่ๆ 4 ตลาด คือ อาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งทั้ง 4 ตลาดครอบคลุมสัดส่วนส่งออกราวร้อยละ 60 ของมูลค่าส่งออกอาหารโดยรวม โดยการส่งออกไปอาเซียนที่ขยายตัวสูงในปีนี้ส่งผลให้อาเซียนเป็นตลาดอาหารของไทยที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นคือร้อยละ 22.5 รองลงมาคือญี่ปุ่นร้อยละ 14.1 สหรัฐฯร้อยละ 12.7 และสหภาพยุโรปร้อยละ 11.8 อย่างไรก็ตามสินค้าส่งออกยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและวัตถุดิบ ส่วนสินค้าอาหารแปรรูปยังมีสัดส่วนไม่มาก”
กล่าวเฉพาะการค้าไทย-อาเซียนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 ไทยนำเข้าอาหารจากอาเซียนมูลค่า 18,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 โดยไทยส่งออกอาหารไปอาเซียนมูลค่า 92,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 67.6 ซึ่งทำให้ไทยเกินดุลการค้ากับอาเซียนมีมูลค่ากว่า 36,000 ล้านบาท
แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารของไทยในครึ่งปีหลัง (2553) คาดว่าจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก โดยไตรมาส 3 การส่งออกจะมีมูลค่า 212,200 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.0 และไตรมาสที่ 4 มีมูลค่า 206,337 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.8 สินค้าที่มีแนวโน้มส่งออกชะลอลงในครึ่งปีหลัง เช่น แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาลทราย และผักผลไม้สด เนื่องจากมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ
“ทั้งนี้อุตสาหกรรมอาหารของไทยได้รับปัจจัยสนับสนุนอยู่หลายประการด้วยกัน อาทิ การมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน สินค้าอาหารจึงมีคุณภาพ ความปลอดภัย และได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้า ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย ขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น จีน อินเดีย และอาเซียน ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจของทั้ง 3 ประเทศจะขยายตัวร้อยละ 10.5, 9.4 และ 6.4 ตามลำดับ และการเปิดเสรีการค้า ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญกับตลาดดังกล่าวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมอาหารของไทยอาจต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออก อาทิ เศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าหลักยังไม่ฟื้นตัว เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น โดยสหรัฐฯ ยังมีอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 9.7 การนำเข้าเริ่มชะลอตัว ยุโรปมีปัญหาการบริโภคลดลงจากมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลหลายๆ ประเทศ ส่วนการแข็งค่าของเงินเยนญี่ปุ่นส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันทำให้สินค้าญี่ปุ่นมีราคาแพงขึ้น ขณะเดียวกัน ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาปัจจัยการผลิต ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องมาจากสภาวะอากาศที่แปรปรวนทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรทั้งในประเทศและในตลาดโลกมีปริมาณลดลง และส่งผลกระทบให้ราคาสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านค่าขนส่งคือค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าระวางเรือในระยะทางไกล เช่น ยุโรป ตะวันออกกลาง ซึ่งค่าระวางเรือสำหรับตู้ขนาด 20 ฟุต เพิ่มสูงขึ้นกว่า 2-3 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และปัจจัยสุดท้ายคืออัตราแลกเปลี่ยน (บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ) แข็งค่า เนื่องจากในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าต่ำกว่าระดับ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในรอบ 30 เดือน” นายอมร กล่าว
โดยสรุปสำหรับภาพรวมตลอดปี 2553 คาดว่าอุตสาหกรรมอาหารไทยจะยังขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยภาคการผลิตจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4-5 ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะมีมูลค่า 830,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นแทบทุกกลุ่มสินค้า อาทิ น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย อาหารสัตว์ เครื่องปรุงรส กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ไก่และสัตว์ปีก ทูน่ากระป๋อง ขณะที่สินค้าที่คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ผลไม้สดที่ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และข้าวที่ประสบปัญหาไม่สามารถแข่งขันกับข้าวต่างประเทศได้