SCB EIC แนะจะแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมอย่างยั่งยืน ต้องสร้างโอกาสให้คนสามารถไต่บันไดเพื่อเพิ่มรายได้ มากกว่าเพียงแค่กระจายรายได้ผ่านเงินอุดหนุน

อังคาร ๓๑ สิงหาคม ๒๐๑๐ ๑๖:๒๔
ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุปัญหาความไม่เท่าเทียมในไทยที่อยู่กับเรามานาน สะท้อนให้เห็นว่าหากยังแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ ก็คงไม่มีอะไรดีขึ้น เพื่อช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดยิ่งขึ้น เราจึงได้ทำการวิเคราะห์เชิงลึกว่าแท้จริงแล้วสภาวะความไม่เท่าเทียมกันมีลักษณะอย่างไร โดยพบว่ากลุ่มคนรายได้น้อยสามารถไต่บันไดเพื่อเพิ่มรายได้ได้ในระดับหนึ่งด้วยการเปลี่ยนอาชีพหรือย้ายถิ่นฐาน เช่น รายได้ของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าหากสามารถมาทำงานเป็นคนงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามพบว่าการเปลี่ยนอาชีพหรือการย้ายถิ่น ไม่เพียงพอที่จะทำให้คนกลุ่มนี้สามารถไต่บันไดรายได้ให้ไปอยู่ในระดับสูงได้ เช่นไต่บันไดให้มีฐานะเท่ากับผู้มีอาชีพเฉพาะทางในกรุงเทพฯ ซึ่งมีรายได้สูงกว่าเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคนงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ ถึง 9 และ 4 เท่า ตามลำดับ เนื่องจากจำเป็นต้องมีการศึกษา ทักษะ หรือ เงินทุน ซึ่งเป็นไปได้ยากเพราะกลุ่มรายได้น้อยเหล่านี้โดยเฉลี่ยยังมีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับค่าเล่าเรียนในระดับสูง เช่นระดับอนุปริญญาหรืออุดมศึกษาอีกด้วย ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมอย่างยั่งยืนจึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะและการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง มากกว่าการกระจายรายได้ผ่านเงินอุดหนุน

การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ช่วยให้ปัญหาความยากจนในไทยปรับตัวดีขึ้น โดยถ้าเรากำหนดให้เส้นระดับความยากจน (poverty line) อยู่ที่ 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน จะพบว่าอัตราส่วนความยากจนในไทยได้ปรับลดลงจาก 26% ในปี 1992 เหลือเพียง 12% ในปี 2004 แต่ถ้าเราขยับเส้นความยากจนดังกล่าวขึ้นเป็น 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน จะพบว่า อัตราส่วนความยากจนจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นถึง 29% ซึ่งสะท้อนว่ายังคงมีคนไทยอีกจำนวนมากที่อยู่ในกลุ่ม “เฉียดจน”

“ความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้เห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อพิจารณาจากรายได้เฉลี่ยของคนในแต่ละภูมิภาค จากการวิเคราะห์ข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนพบว่าเกษตรกรรายย่อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอ. เฉียงเหนือ) มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนต่ำที่สุด ในขณะที่ผู้ประกอบการในกรุงเทพฯ มีรายได้สูงที่สุดโดยมีรายได้มากกว่ากลุ่มเรกถึงเกือบ 12 เท่า นอกจากนั้นเมื่อพิจารณารายได้เฉลี่ยในแต่ละอาชีพยังพบว่าโดยเฉลี่ยผู้มีอาชีพเกษตรกรรายย่อยมีรายได้เฉลี่ยต่ำที่สุด ตามมาด้วยคนงานก่อสร้าง คนงานในโรงงาน และพนักงานบริการ โดยการเติบโตของรายได้ของคนกลุ่มดังกล่าวไม่มีแนวโน้มที่จะโตไล่ทันรายได้ของผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะทาง และผู้ประกอบการซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงกว่ากลุ่มแรกอย่างชัดเจน นอกเสียจากว่าจะมีการศึกษา ทักษะ หรือเงินทุน เพียงพอสำหรับไต่บันไดรายได้สู่ขั้นสูงขึ้น ทั้งนี้โอกาสในการเข้าถึงปัจจัยดังกล่าวยังมีไม่ทั่วถึง” ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าว

ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวเสริมว่า “การไล่ไม่ทันของรายได้ดังกล่าว เห็นได้อย่างชัดเจนจากภาพรวมในระยะยาวสำหรับช่วงปี 1990-2007 ซึ่งไม่แสดงถึงสัญญาณใดๆ ว่าสาขาอาชีพและครัวเรือนที่มีรายได้น้อยจะสามารถมีรายได้เท่ากับกลุ่มที่มีรายได้มากได้ ขณะที่ครัวเรือนรายได้น้อย (เช่น เกษตรกรรายย่อยในภาคตอ.เฉียงเหนือ) มีอัตราการเติบโตของรายได้มากขึ้น แต่ช่องว่างของรายได้ที่ห่างกันมากในตอนต้น ทำให้มีโอกาสไม่มากนักที่ระดับรายได้จะไล่ตามกันทัน โดยในบางกรณี ช่องว่างของรายได้นี้กลับยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย โดยในปี 1990 นั้น ผู้ประกอบการในกรุงเทพฯ มีรายได้มากกว่า 2 เท่าของคนงานในโรงงานในกรุงเทพฯ และมากกว่า 10 เท่าของเกษตรกรรายย่อยในตอ.เฉียงเหนือ แต่ในปี 2007 ช่องว่างเหล่านี้กลับยิ่งห่างออกไปเป็น 3 เท่าและ 12 เท่าตามลำดับ”

การไต่บันไดรายได้ในขั้นแรกๆ สามารถทำได้ง่ายด้วยการเปลี่ยนอาชีพหรือย้ายถิ่นฐาน เช่นเปลี่ยนจากเกษตรกรรายย่อยในภาคตอ. เฉียงเหนือมาเป็นคนงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามหากต้องการมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเช่นในกรณีของกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะทางและผู้ประกอบการในกรุงเทพฯ ซึ่งมีรายได้มากกว่ากลุ่มแรกถึง 9 และ 12 เท่า ตามลำดับ จำเป็นต้องมีการศึกษา ทักษะที่สูงขึ้น หรือสามารถเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งเราพบว่าการไต่บันไดรายได้สู่ขั้นสูงนี้มีโอกาสค่อนข้างน้อยเนื่องจากขาดปัจจัยดังกล่าว นอกจากนั้น โอกาสของบุตรหลานของผู้มีรายได้น้อยก็มีค่อนข้างจำกัดเนื่องจากเงินออมยังไม่เพียงพอสำหรับค่าเล่าเรียนระดับสูง

ตัวอย่างเช่น ผู้มีอาชีพอิสระรับจ้างทั่วไปในภาคตอ. เฉียงเหนือมีเงินออมเฉลี่ยต่อปีเพียง 12,000 บาท ในขณะที่ค่าเล่าเรียนต่อคนต่อปีของการศึกษาระดับอนุปริญญา และอุดมศึกษาสูงถึง 15,000 และ 35,000 บาทตามลำดับ

ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวทิ้งท้าย “ปัญหาความไม่เท่าเทียมของรายได้ในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นปัญหาที่อยู่กับเรามานาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าหากยังแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ ก็คงไม่มีอะไรดีขึ้น และด้วยจากสภาวะความไม่เท่าเทียมกันที่เกิดขึ้นจริงๆ ในไทย รัฐควรให้ความสำคัญอย่างชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านโอกาสเพื่อการไต่บันไดรายได้มากกว่าเพียงแค่กระจายรายได้ผ่านเงินอุดหนุน เพราะการกระจายรายได้เป็นนโยบายที่ผลรวมเป็นศูนย์ หรือหากมีใครได้มากขึ้นอีกคนหนึ่งต้องได้น้อยลง (zero-sum game) โดยรัฐควรมุ่งเน้นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขและการศึกษาอย่างทั่วถึง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องเพิ่มความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน โดยแนวทางดังกล่าวนี้ประสบผลสำเร็จอย่างสูงในประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศ”

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้จะถูกหยิบยกขึ้นนำเสนอในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปีครั้งที่ 2 ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB Annual Conference on the Economy ภายใต้การบรรยายในหัวข้อเรื่อง “Thailand: Tougher Challenges, Bigger Opportunities” ร่วมกับการเสวนาในหัวข้ออื่นๆ ที่น่าสนใจ ทั้งในเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจและตลาดเงินในปี 2554 รวมทั้งการเสวนาในเรื่องโอกาสของประเทศไทยในระยะยาวและบทบาทของภาคเอกชน ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้จะจัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ในวันศุกร์ที่ 3 กันยายนนี้ โดยผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมงานสัมมนาได้ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดการวิเคราะห์เชิงลึกเพิ่มเติมได้ใน SCB Insight เรื่อง “การเติบโต ความเหลื่อมล้ำ และโอกาสในประเทศไทย" สอบถามได้ที่ SCB EIC คุณพิณัฐฐา อรุณทัต โทร.0-2544-2953 อีเมล์ [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version