เด็กหญิงสุรีรัตน์ สะท้อนความรู้สึกเสียใจหลังหันไปมองสภาพน้ำที่เน่าเสีย สีดำคล้ำ และส่งกลิ่นเหม็นโชยมาเป็นระลอกพร้อมกับเล่าให้ฟังว่า เมื่อเร็วๆ นี้ที่วัดมีงานประจำปีซึ่งวัดอยู่ติดกับ โรงเรียน โดยจัดงานนานร่วมสัปดาห์ ทั้ง มหรสพ ร้านค้า อาหาร มีขายกันไม่ขาด คนที่มาเที่ยวงานต่างทิ้งขยะเศษอาหาร และสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงคลองข้างโรงเรียน หลังจากงานเสร็จน้ำก็เริ่มเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็น ไม่มีสมาธิในการเรียน ทำให้นักเรียน ครู รวมไปถึงชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงต่างได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า
ประธานนักเรียนหญิงคนเก่งบอกว่า การรักษาสิ่งแวดล้อมถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับตนและเพื่อนๆอยู่แล้ว เพราะถ้าหากสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ชุมชน และพื้นที่ใกล้เคียงไม่ดี ก็จะทำให้ไม่น่าอยู่ คิดว่าการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของโรงเรียนให้ดีขึ้น โดยเฉพาะน้ำในคลองที่เน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น สิ่งแวดล้อมไม่น่าอยู่ ทำให้ไม่มีความสุขในการเรียน จึงคิดว่าจะช่วยกันแก้ไขตรงจุดนี้ร่วมกับเพื่อนๆ
คงไม่ใช้เรื่องน่าแปลกที่เด็กนักเรียนของโรงเรียนบ้านกระทุ่มล้ม จังหวัดนครปฐม จะลุกขึ้นมาดูแลสิ่งแวดล้อมและมีจิตสำนึกมากกว่าผู้ใหญ่หลายคน ส่วนหนึ่งก็เพราะโรงเรียนบ้านกระทุ่มล้มได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในโครงการ “โรงเรียนเครือข่ายเชฟรอน พลังใจ พลังคน” ที่บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย คัดเลือกให้เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ทั้งยังได้ปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้กับเด็ก ทำให้เด็กได้ฝึกคิดและดำเนินกิจกรรมต่างๆเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสร้างสรรค์ เช่น โครงการธนาคารขยะ โครงการระเบิดน้ำใสไร้กลิ่น หรือระเบิดอีเอ็ม และโครงการรับคืนอลูมิเนียม เป็นต้น
ด้านนายวิชญ์วิสิฐ เมืองโคตร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านกระทุ่มล้ม จังหวัดนครปฐมเล่าให้ฟังถึงที่มาของการทำระเบิดอีเอ็มที่ช่วยทำให้น้ำในคูเล็กๆข้างโรงเรียนกลับมาใสไร้กลิ่นเหมือนเดิมว่า เกิดจากการนำเอาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ได้รับจากในห้องเรียนและจากวิทยากรข้างนอก ซึ่งครั้งหนึ่งทางโรงเรียนได้มีการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ขึ้น ก็ได้เชิญวิทยากรซึ่งเป็นหมอดินประจำตำบลมาเล่าให้พวกเราฟัง โดยเฉพาะเรื่องน้ำเสีย น้ำเน่า ซึ่งบริเวณข้างๆโรงเรียนจะมีคลองน้ำเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น เราก็ได้เรียนรู้เรื่องการบำบัดน้ำเสียโดยวิธีง่ายๆจากการนำเอาน้ำหมักชีวภาพมาผสมกับส่วนผสมและส่วนประกอบอื่นๆ ที่เราเรียกว่า “ระเบิดอีเอ็ม” ซึ่งเป็นระเบิดที่โยนลงไปในน้ำแล้วช่วยทำให้น้ำใสไม่เน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็นรบกวนในขณะเรียนอีกด้วย
น้องวิชญ์วิสิฐอธิบายถึงวิธีการทำระเบิดอีเอ็มว่า ขั้นตอนและส่วนผสมในการทำระเบิดอีเอ็มนั้นจะประกอบไปด้วย ทรายละเอียด 1 กิโลกรัม รำหยาบ 2 กิโลกรัม กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม แล้วก็น้ำหมักหัวเชื้อ พด.6 ปริมาณ 1 กิโลกรัม เมื่อได้ส่วนผสมครบแล้ววิธีการทำนั้นก็ไม่ได้ยุ่งยากมากนัก แค่เอาส่วนผสมทั้งหมดมาคลุกเคล้าผสมเข้าด้วยกัน จากนั้นก็นำมาอัดเป็นแท่งในท่อพีวีซีเพื่อให้มีปริมาตรเท่ากัน จากนั้นก็ปั้นให้เป็นก้อนกลมๆ แล้วนำไปตากในที่ร่มทิ้งไว้ประมาณ 20 วันถึงหนึ่งเดือน เมื่อก้อนระเบิดอีเอ็มแห้งแล้วก็สามารถนำไปโยนลงในแหล่งน้ำที่มีความเน่าเสีย น้ำดำ ส่งกลิ่นเหม็น แต่ถ้าหากลูกระเบิดอีเอ็มลูกไหนเกิดขึ้นรากลายเป็นสีเขียวก็จะใช้ไม่ได้และต้องทิ้งไป
สำหรับการนำระเบิดอีเอ็มไปใช้งานเพื่อฟื้นฟูแหล่งน้ำให้ใสไม่มีกลิ่นนั้น น้องสุรศักดิ์ สินพัมนาอนันต์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านกระทุ่มล้ม จังหวัดนครปฐม กล่าวเสริมว่า ตนและเพื่อนๆนักเรียนก็จะช่วยกันนำระเบิดอีเอ็มที่ตากแห้งพร้อมใช้งานนำไปโยนลงในแม่น้ำ คู คลอง เมื่อโยนลงไปในน้ำ จุลินทรีย์ที่อยู่ในระเบิดที่ถูกระงับการเจริญเติบโตก็จะกลับมามีชีวิตอีกครั้งเมื่ออยู่ใต้น้ำ จุลินทรีย์เหล่านี้ก็จะช่วยในการระงับแบคทีเรียในน้ำไม่ให้น้ำเน่าเสีย เกิดการทำปฏิกิริยาทางเคมี สารที่อยู่ในระเบิดอีเอ็มก็จะค่อยๆละลายออกมา จุลินทรีย์เหล่านั้นก็จะไประงับและทำงายแบคทีเรียในน้ำที่เป็นตัวการทำให้น้ำเน่าเสีย สีดำ ส่งกลิ่นเหม็น หลังจากนั้นประมาณ 7 วันสีของน้ำก็จะค่อยๆใสขึ้น ดีขึ้น จากสีดำกลายเป็นสีเทาๆ และก็จะใสขึ้น เริ่มมีการตกตะกอน กลิ่นก็จะจางลงจนไม่มีกลิ่นเหม็น
“หลังจากมีการทดลองและใช้ระเบิดอีเอ็มดูก็ปรากฏว่าได้ผล น้ำที่มีสีดำก็ใสขึ้นมา จากนั้นพวกเราก็ทำมาเรื่อยๆ เพราะพวกเรามองว่าเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากที่สุดเพราะทุกคนล้วนมีสิ่งแวดล้อมอยู่รอบกาย หากสิ่งแวดล้อมไม่ดี เสื่อมโทรม เป็นมลพิษ ก็จะส่งผลทำให้การดำรงชีวิตของเราไม่ดีไปด้วย สุขภาพเสื่อมโทรม เสียสุขภาพจิต โดยเฉพาะกลิ่นเหม็นของน้ำเน่าเสีย ทำให้การเรียนไม่มีความสุขเพราะต้องทนสูดกลิ่นเหม็นเน่าของน้ำเข้าไปในขณะเรียน หรือใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณโรงเรียน ผมคิดว่าทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการดูแลและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าหากใครคนใดคนหนึ่งทำเพียงคนเดียว คงจะไม่ประสบความสำเร็จได้ แต่ถ้าหากทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือ ผมคิดว่ามันจะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน” น้องสุรศักดิ์กล่าว
ด้านนางเพลินพิณ จันทร์อ่อน ครูผู้รับผิดชอบโครงการด้านสิ่งแวดล้อม โรงเรียนบ้านกระทุ่มล้ม เล่าว่า การจัดกิจกรรมให้นักเรียนเข้าค่ายสิ่งแวดล้อมถือเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่โรงเรียนจัดขึ้นภายใต้งบประมาณของโครงการโรงเรียนเครือข่ายเชฟรอนพลังใจพลังคน เพราะการเข้าค่ายและดูงานด้านสิ่งแวดล้อมนอกสถานที่ถือเป็นการเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่ง เน้นให้นักเรียนได้เห็นของจริง และประสบการณ์จริง อีกอย่างการจัดค่ายก็เพื่อต้องการสร้างความตระหนักให้กับเด็กในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเพราะก่อนที่เด็กจะไปเข้าค่ายจากเดิมเด็กไม่เคยทำ ไม่เคยเก็บขยะ แต่ตอนนี้เขากลับหันมาช่วยกันดูแล หรือปัญหาน้ำเน่าเสียข้างโรงเรียนเด็กก็จะคิดและหาวิธีการฟื้นฟูรักษาแหล่งน้ำ เป็นการสะท้อนว่าเด็กมีจิตสำนึกในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี
“หลังจากที่โรงเรียนได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในโครงการ “โรงเรียนเครือข่ายเชฟรอน พลังใจ พลังคน” ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในปี 2552 โรงเรียนก็ได้รับการสนับสนุนเรื่องขององค์ความรู้ และงบประมาณในการดำเนินโครงการต่างๆ ทำให้นักเรียนเกิดความตื่นตัว และมีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น การดำเนินโครงการต่างๆ ภายในโรงเรียนก็เป็นเรื่องง่ายเพราะนักเรียนทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะต่างก็มีเป้าหมายเดียวกันคือ ทำเพื่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อตัวของพวกเขาเอง” ครูเพลินพิณ กล่าวสรุป
ส่วนโรงเรียนไหนมีโครงการดี ๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะและสนใจร่วมเป็นโรงเรียนในเครือข่ายของโครงการฯ สามารถติดต่อได้ที่ โครงการโรงเรียนเครือข่ายเชฟรอน พลังใจ พลังคน โทร. 02 831 8494
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 028643900 บริษัท มายแบรนด์ เอเจนซี่