นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวแสดงความคิดเห็นถึงกรณีนี้ว่า ปัญหาเด็กต่างสถาบันยกพวกตีกัน เป็นปัญหาที่มีมานาน และแก้ไขได้ยาก ตราบใดที่เด็กและเยาวชนยังไม่ล้มเลิกความคิดเรื่องความเป็นสถาบัน หรือปัญหาความขัดแย้งระหว่างกัน ก็จะนำไปสู่เหตุความรุนแรงอื่นๆ ตามมาอีกเรื่อยๆ และยากเกินควบคุม ซึ่งปัจจัยสำคัญนั้นมาจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง โดยเฉพาะในครอบครัว เพราะในความเป็นจริง เด็กใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนเฉลี่ยเพียงแค่ ๘ ชั่วโมงต่อวัน เวลาที่เหลือส่วนมากนั้นใช้เวลาอยู่ที่บ้าน เด็กจึงซึมซับพฤติกรรมที่เห็นที่บ้าน ประกอบกับปัญหาส่วนใหญ่ มักเกิดจากในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลลูก หรือบางคนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่แต่ไปอยู่กับเพื่อน ทำให้ขาดการอบรมสั่งสอนหรือถูกชักจูงไปในทางที่ไม่ดีได้ง่าย พ่อแม่ผู้ปกครองจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องเข้ามาดูแลแก้ปัญหาร่วมกัน ในการกวดขันดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ให้ความรักความอบอุ่นในครอบครัว และอบรมสั่งสอน ปลูกฝังค่านิยมที่ดี ให้ความรู้ความเข้าใจในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างถูกต้อง
นายอิสสระ กล่าวต่อว่า มาตรการการจัดการหลังเกิดเหตุก็เป็นส่วนสำคัญ ตำรวจควรมีการดำเนินการใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและใช้มาตรการลงโทษให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เช่น เข้าสถานพินิจฯแล้วต้องมีการอบรม มีการรายงานตัวคุมประพฤติ เรียกพ่อแม่มาทำทัณฑ์บน รวมทั้งโรงเรียนต้นสังกัดก็ต้องมีส่วนช่วยดูแล หากมีการกระทำความผิดซ้ำอีก ก็จำเป็นต้องให้พ้นสภาพการเป็นนักเรียนด้วย ซึ่งในกฎหมายปัจจุบันได้ระบุไว้อยู่แล้วว่า ในกรณีที่เยาวชนมีการกระทำความผิดร้ายแรง ก็จะต้องได้รับโทษเทียบเท่ากับผู้ใหญ่ โดยการพิจารณาโทษนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล.