นายคเณศ ขาวจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPC เปิดเผยความคืบหน้าหลังมีคำสั่งศาลปกครองกลาง เมื่อ 2 กันยายน 53 ที่ 1 ใน 2 โครงการของบริษัทต้องยื่นขอใบอนุญาตใหม่ คือ โครงการขยายกำลังการผลิตไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ ของโรงงานที่ 1 และโรงงานที่ 2 ส่วนโครงการขยายกำลังการผลิตผงพลาสติกโพลีไวนิลคลอไรด์สายการผลิตที่ 8 และสายการผลิตที่ 9 ที่ไม่เข้าข่าย 11 โครงการที่มีผลกระทบรุนแรงจะเริ่มเดินหน้าโครงการในพื้นที่มาบตาพุดต่อทันที โดยขณะนี้ได้ประสานกับทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ถึงขั้นตอนที่จะต้องปฏิบัติต่อไป หากทุกอย่างเรียบร้อยจะสามารถเริ่มผลิตได้ในช่วงประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้
ขณะเดียวกันในสัปดาห์หน้า บริษัทจะส่งหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) และผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนในชุมชน (Health Impact Assessment : HIA) ของโครงการขยายกำลังการผลิตไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ของโรงงานที่ 1 และโรงงานที่ 2 ซึ่งศาลปกครองจะมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต บริษัทได้ดำเนินการไปก่อนหน้า ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 67 วรรค 2 หากไม่มีปัญหาคาดว่ากระบวนการต่างๆ ของการทำ EIA และ HIA จะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2553 และเริ่มทำการผลิตได้ประมาณไตรมาส 3 ปีหน้า
"ของเราได้เริ่มทำ EIA และ HIA มาตั้งแต่ต้นปี 53 แล้ว โดยการจ้างที่ปรึกษาเข้ามาช่วยดำเนินการให้ มีการเข้าหาชุมชนอย่างต่อเนื่อง เราจึงได้สอบถามไปยังหน่วยงานภาครัฐว่าที่ดำเนินการมานั้นใช้ได้หรือไม่ เชื่อว่าหากมีการพิจารณา ก็น่าจะได้รับใบอนุญาตและทุกอย่างจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 54 หลังจากนั้นก็จะใช้เวลาในการติดตั้งเครื่องจักรอีกประมาณ 1-2 เดือน แล้วก็เริ่มเดินเครื่องผลิตได้ทันที ซึ่งทั้งหมดนี้ ไม่ได้ถูกรวมไว้กับเป้าหมายยอดขายที่ตั้งไว้ จึงไม่มีผลกระทบใดๆ เพียงแต่ทำให้เราเสียโอกาสไป 2 ไลน์การผลิตเท่านั้นเอง"นายคเณศ กล่าว
ส่วนยอดขายในปีนี้คาดว่าน่าจะอยู่ประมาณ 26,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 22,000-24,000 ล้านบาท ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2553 น่าจะออกมาดีกว่าไตรมาส 2/2553 และดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะแนวโน้มราคาของผลิตภัณฑ์ปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย Spread margin ของ PVC อยู่ที่ประมาณ 500 เหรียญต่อตัน สูงกว่าระดับปกติที่ประมาณ 400 เหรียญต่อตัน โดยปัจจุบันราคา PVC อยู่ที่ระดับ 950 เหรียญต่อตัน
"จากการปรับตัวที่ดีขึ้น ทำให้มองแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีกในช่วงสิ้นปีนี้ คาดว่าปลายปีนี้จะสูงขึ้นไปแตะ 1,000 เหรียญ/ตัน เพราะขณะนี้ราคาที่อินเดียปรับขึ้นไปในระดับดังกล่าวแล้ว ขณะที่ราคาในภูมิภาคอยู่ที่ 950 เหรียญ/ตัน ซึ่งราคาที่ดีขึ้น ยังมาจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ อาทิ โครงการไทยเข้มแข็ง โครงการชลประทาน โครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมแถบสถานีรถไฟฟ้า ทำให้ในส่วนของยอดขายท่อ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมก่อสร้างจะเติบโตขึ้น"
ขณะเดียวกันผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น กระทบกับบริษัทเพียงเล็กน้อย คือ ทำให้กำไรของบริษัทฯ หายไปประมาณ 30-40 ล้านบาทในปีนี้ จากเดิมปีที่แล้วค่าบาทเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 32 บาทต่อดอลลาร์ แต่ในปัจจุบันค่าเงินบาทมาอยู่ที่ระดับประมาณ 31.00 บาทต่อดอลลาร์ ที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักมากจากการส่งออก เพราะวัตถุดิบก็มีการนำเข้าเป็นดอลลาร์ 100% เป็นการทำ Natural Hedge ไปในตัว