นายวสันต์ มีวงษ์ รองโฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงโครงการส่งเสริมค่ายเยาวชน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายในด้านการจัดการศึกษาของกรุงเทพมหานครที่เน้นการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร เป็นเด็กดี มีทักษะความคิด เพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน อ่านเขียนได้ ใช้เทคโนโลยีเป็น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็น “มหานครแห่งการเรียนรู้”
นายวสันต์ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ปรับปรุงและพัฒนาค่ายลูกเสือในความรับผิดชอบ 2 แห่ง คือ ค่ายลูกเสือกรุงเทพมหานคร (พิศลยบุตร) เขตดอนเมือง และค่ายลูกเสือกรุงธน เขตทุ่งครุ ที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมต่างๆ โดยพัฒนาให้เป็นค่ายเยาวชนและสวนการเรียนรู้ (Youth Camp and Learning Park) ซึ่งมีความทันสมัย สะดวกสบาย มีนิทรรศการและฐานการเรียนรู้ที่หลากหลาย เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี เพื่อสร้างฐานการเรียนรู้ที่มีความแข็งแรงและปลอดภัยเหมาะสมกับกิจกรรมลูกเสือ ยุวกาชาด โดยค่ายลูกเสือกรุงธนจัดทำเป็นฐานวัฒนธรรม และค่ายลูกเสือกรุงเทพมหานคร (พิศลยบุตร) เป็นฐานวิทยาศาสตร์ แต่ละค่ายนับเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่บูรณาการค่ายลูกเสือกับแหล่งการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน หลังการปรับปรุงแต่ละค่ายจะสามารถรองรับการเข้าค่ายของลูกเสือได้ครั้งละ 600-700 คน จากเดิมที่รองรับได้ครั้งละ 200 คนเท่านั้น โดยสามารถฝึกได้ฐานละ 20 คน
ทั้งนี้ค่ายลูกเสือทั้ง 2 แห่ง จะเปิดให้บริการตั้งแต่วันเปิดภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2553 (1 พ.ย. 53) โดยจะเปิดให้บริการทั้งในส่วนของฐานทักษะลูกเสือ ฐานวิทยาศาสตร์ และฐานวัฒนธรรม เพื่อให้ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ นักเรียน และเยาวชนสังกัดกทม. ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นไป จาก 436 โรงเรียน จำนวนประมาณ 2 แสนคน และนักเรียนจากโรงเรียนสังกัดอื่นๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและต่างจังหวัด สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากค่ายทั้งสองแห่งได้