พลตรีนายแพทย์ นิวัฒน์ บุญยืน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวว่า โรงพยาบาล วัฒโนสถก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2549 เป็นโรงพยาบาลรักษาด้านโรคมะเร็ง ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เน้นการรักษาแบบองค์รวม รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลรักษาจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสหสาขาที่มากด้วยประสบการณ์ด้านโรคมะเร็ง อาทิ แพทย์รังสีวินิจฉัย เวชศาสตร์นิวเคลียร์ พยาธิแพทย์ ศัลยแพทย์ด้านโรคมะเร็ง แพทย์รังสีรักษา อายุรแพทย์มะเร็ง จิตแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการระงับความเจ็บปวด นักโภชนาการ และทีมพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง
ทั้งนี้ ล่าสุด รพ.วัฒโนสถได้นำเข้าเครื่องมือแพทย์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย คือ “วีแมท” (VMAT) หรือ Volumetric Modulated Arc Therapy เป็นเทคโนโลยีใหม่ของการฉายรังสีในผู้ป่วยโรคมะเร็ง “ในการฉายรังสีด้วยเทคโนโลยี วีแมท” ซึ่งเครื่องจะสามารถหมุนทำงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยรูปลักษณ์ของลำรังสีจะปรับเปลี่ยนตามรูปร่าง และทิศทางตามลักษณะของก้อนมะเร็ง ซึ่งเครื่องวีแมทจะทำงานร่วมกับระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อการวางแผนการรักษา (Computer Treatment Planning) โดยจะส่งผลให้ปริมาณและขอบเขตของรังสีมีความพอดีกับเนื้อเยื่อมะเร็ง ทำให้ผลการรักษามีความรวดเร็ว ระยะเวลาในการฉายรังสีแต่ละครั้งก็สั้นลง โดยหากเปรียบเทียบกับเทคนิคการฉายรังสีแบบปรับความเข้ม (IMRT)
“ในปัจจุบัน พบว่าผู้ป่วยต้องนอนฉายรังสีประมาณ 15-30 นาที แต่ด้วยเทคนิค VMAT สามารถฉายรังสีให้เสร็จสิ้นในเวลา 3-5 นาที เป็นการลดความผิดพลาดอันอาจเกิดจากการขยับตัวของผู้ป่วย (motion error) นอกจากนี้ เทคโนโลยี VMAT ยังมีการใช้ระบบภาพนำวิถีแบบ 3 มิติ เข้ามาช่วยในการตรวจสอบตำแหน่งของก้อนมะเร็งก่อนการฉายรังสี ทำให้การรักษามีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น อีกทั้งผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากเนื้อเยื่อดีถูกทำลายก็ลดน้อยลงด้วยเช่นกัน”
พลตรีนายแพทย์นิวัฒน์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า รพ.วัฒโนสถได้นำเครื่องวีแมท เข้ามาให้บริการเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จำนวน 1 เครื่อง ราคาตัวเครื่องและระบบมีมูลค่า 130 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายในการฉายรังสีรักษานั้น จะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ตามระยะขั้น (Stage ของมะเร็ง) และอาการของคนไข้ โดยเฉลี่ยใน 1 คอร์ส ในกรณีบรรเทาอาการผู้ป่วย (เฉลี่ย 10 ครั้ง) ราคาประมาณ 100,000 บาท และกรณีรักษาผู้ป่วยหวังผลหายขาด (เฉลี่ย 23-35 ครั้ง) ราคาประมาณ 300,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน รพ.วัฒโนสถ มีผู้ป่วยมะเร็งมาใช้บริการรังสีรักษา ประมาณ 400 รายต่อปี โดยในปีนี้มีอัตราเพิ่มขึ้นกว่าปีผ่านมา 23 เปอร์เซ็นต์ และเพื่อให้เทคโนโลยีเครื่องวีแมทสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทางโรงพยาบาลจึงได้ร่วมกับ PBI จัดสัมมนาเชิงวิชาการแพทย์รังสีรักษา ขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยเชิญแพทย์รังสีรักษาจากทั่วประเทศมาร่วมประชุม เพื่อให้ความรู้และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นการรักษาด้วยรังสีรักษา เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรักษาและผู้ป่วยอีกด้วย
ด้าน นายปราโมทย์ ก๊กพ่อค้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีเมียร์ บิสสิเนส อินเตอร์ จำกัด หรือPBI ผู้แทนนำเข้าและจัดจำหน่ายเทคโนโลยีทางการแพทย์ แบรนด์ “อีเล็คต้า” ประเทศสวีเดน (ผลิตในประเทศอังกฤษ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สวีเดน) เปิดเผยว่า “วีแมท” ถือว่าเป็นเทคโนโลยีเครื่องมือทางการแพทย์ ที่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศโดยเฉพาะในแถบยุโรป ตามสถานที่พยาบาลต่างๆ จะมีอัตราการใช้เครื่องมือชนิดนี้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ตลาดอเมริกา ก็ได้รับความไว้วางใจเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นว่า ในการนำเทคโนโลยีวีแมทเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยจะประสบผลสำเร็จ และได้รับความนิยมเช่นกัน
“ ในภูมิภาคเอเชียได้นำเข้าเครื่องวีแมท 4 ประเทศเท่านั้น คือ ประเทศญี่ปุ่น, ฮ่องกง, ใต้หวัน และไทย ซึ่งราคาเครื่องเร่งอนุภาคพร้อมเทคโนโยลีวีแมท มีมูลค่าประมาณ 130 ล้านบาทขึ้นไป โดยบริษัทฯ เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นโรงพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่ และโรงพยาบาลเฉพาะทางที่มีการรักษามะเร็งโดยวิธีฉายแสงและฝังแร่ โดยคาดว่าในปีงบประมาณที่จะถึงนี้ บริษัทฯ น่าจะมียอดจำหน่ายประมาณ 300 ล้านบาท (ในปี 2553) และครองส่วนแบ่งทางการตลาดเครื่องมือทางรังสีรักษา ไม่น้อยกว่า 40 เปอร์เซ็นต์”
ปัจจุบันบริษัท พรีเมียร์ บิสสิเนส อินเตอร์ จำกัด ได้นำเข้าเครื่องเครื่องมือแพทย์ทางด้านรังสีรักษาหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเร่งอนุภาคสำหรับรักษาผู้ป่วยมะเร็ง เครื่องวางแผนการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง เครื่องเอกซเรย์สร้างภาพจำลอง เครื่องฝังแร่เพื่อรักษามะเร็ง โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดมีคุณภาพ และมีชื่อเสียงสูงสุด 1 ใน 3 ของโลก