ฟิทช์ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิต ธนาคารธนชาต บริษัท ทุนธนชาต และธนาคารนครหลวงไทย

พฤหัส ๐๙ กันยายน ๒๐๑๐ ๑๔:๕๗
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) (TBANK) บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) (TCAP) และธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) (SCIB) พร้อมทั้งยกเลิกอันดับเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นบวก หลังจากการเข้าซื้อกิจการของ SCIB โดย TBANK ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ฟิทช์ได้ประกาศอันดับเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นบวกแก่สถาบันการเงินทั้ง 3 แห่ง หลังจากที่ TBANK ประกาศแผนการเข้าซื้อกิจการของ SCIB นอกจากนี้ฟิทช์ยังประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Individual Rating) ของ TBANK ที่ C/D และยกเลิกอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ SCIB รายละเอียดการปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตแสดงอยู่ด้านล่าง

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศของ TBANK สะท้อนถึงสถานะทางการตลาด ระดับเงินกองทุน สภาพคล่อง และผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่การปรับเพิ่มของอันดับเครดิตสนับสนุนเป็นผลจากการที่ธนาคารมีความสำคัญต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจที่สูงขึ้นหลังจากควบรวม ส่วนการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ TCAP มีปัจจัยสนับสนุนมาจากผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการที่ TBANK ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่มีสถานะแข็งแกร่งขึ้น อันดับเครดิตของ TCAP อยู่ต่ำกว่า TBANK 1 ขั้น สะท้อนถึงการที่ TCAP มีโครงสร้างเป็นบริษัทโฮลดิ้งซึ่งต้องพึ่งพารายได้จากบริษัทลูก รวมถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของตัว TCAP เอง ในขณะเดียวกัน ได้มีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ SCIB ให้อยู่ในระดับเดียวกันกับของ TBANK เนื่องจากการเข้าซื้อกิจการของ SCIB และการควบรวมระหว่าง TBANK และ SCIB นอกจากนี้ ได้มีการประกาศแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพแก่อันดับเครดิตภายในประเทศของ TBANK และ TCAP รวมถึงอันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศของ SCIB การปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตของ TBANK ในอนาคตจะขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของธนาคารหลังการควบรวม

TBANK เป็นสถาบันการเงินหลักในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มธนชาต ปัจจุบัน TCAP ถือหุ้นใน TBANK ในสัดส่วน 50.9% ขณะที่ธนาคารโนวาสโกเทีย (BNS: ‘AA-’/’F1+’) ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 3 ของแคนาดา ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน TBANK เป็น 49% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 (จาก 25%) จากการที่ BNS ได้มีส่วนร่วมในการบริหารและให้การสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น เป็นปัจจัยช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินและผลการดำเนินงานของ TBANK ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา นอกจากร่วมลงทุนเพื่อเข้าซื้อกิจการของ SCIB ในปี 2553 ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตนาในการลงทุนระยะยาวของ BNS แล้ว BNS ยังมีส่วนร่วมในกระบวนการเข้าซื้อกิจการและการควบรวมที่กำลังดำเนินอยู่

หลังจากที่ TBANK ได้เข้าซื้อกิจการของ SCIB ส่งผลให้ความสำคัญของธนาคารต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นโดย TBANK ได้เปลี่ยนสถานะมาเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับที่ 6 ของประเทศไทย และมีขนาดสินทรัพย์จำนวน 829.7 พันล้านบาท นอกจากนี้การควบรวมยังส่งผลให้มีการกระจายความเสี่ยงของสินเชื่อมากขึ้น โดยสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยของ 2 ธนาคารรวมกันลดลงเป็น 56% ของสินเชื่อรวม เทียบกับ 79% ของ TBANK ก่อนการเข้าซื้อกิจการ อย่างไรก็ตาม สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังคงเป็นจุดแข็งของ TBANK โดยมีสัดส่วนเป็น 39% ของสินเชื่อรวม สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ (44% ของสินเชื่อรวม) ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วย สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของ SCIB นอกจากนี้ ความสามารถในการระดมเงินของ TBANK น่าจะแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งจากเครือข่ายการให้บริการเงินฝากที่แข็งแกร่งของ SCIB

นอกจากนี้ ผลกำไรของ TBANK ยังปรับตัวสูงขึ้น โดยธนาคารมีกำไรสุทธิตามงบการเงินรวมที่จำนวน 4.4 พันล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2553 เทียบกับ 1.0 พันล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2552 อัตราส่วนกำไรต่อสินทรัพย์ (ROA) คิดเป็นรายปี ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 1.57% ในครึ่งแรกของปี 2553 จาก 1.06% ในปี 2552 ในขณะที่อัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.34% ในครึ่งแรกของปี 2553 จาก 3.98% ในปี 2552 จากการที่ต้นทุนทางการเงินลดลง เนื่องจากเครือข่ายการให้บริการเงินฝากที่แข็งแกร่งของ SCIB นอกจากนี้ ระดับเงินกองทุนของ TBANK ยังปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจาก SCIB มีระดับเงินกองทุนที่สูงกว่า โดย TBANK มีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมอยู่ที่ 11.8% และ 15.0% ตามลำดับ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 (8.7% และ 13.6% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553) ในส่วนของค่าความนิยมจำนวน 18.5 พันล้านบาท ที่เกิดจากการเข้าซื้อกิจการของ SCIB นั้น ยังไม่มีการหักออกจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของ TBANK เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนผันให้เริ่มหักค่าความนิยม หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการควบรวมภายในสิ้นปี 2554 โดยธนาคารคาดว่าอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะยังคงอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 8% หลังจากหักค่าความนิยมในปี 2555

อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการการส่งผลให้คุณภาพของสินทรัพย์ของ TBANK ปรับตัวอ่อนแอลง เนื่องจาก SCIB มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับที่สูงกว่า ทั้งนี้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวมของ TBANK และ SCIB เพิ่มสูงขึ้นเป็น 35.5 พันล้านบาท (6.2% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 จาก 8.4 พันล้านบาท (2.9%) ณ สิ้นปี 2552 ส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 75.6% ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 เทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 80% ทั้งนี้อาจมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งสำรองหนี้ที่สงสัยจะสูญเพิ่มเติมสำหรับสินเชื่อของ SCIB เนื่องจากสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษอยู่ในระดับที่สูง (8.2% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553) อย่างไรก็ตาม ฟิทช์เชื่อว่าผลกำไรที่เพิ่มขึ้นหลังจากการควบรวมกิจการจะสามารถรองรับการตั้งสำรองที่อาจเพิ่มขึ้นได้

ในส่วนของงบการเงินเฉพาะกิจการ TCAP มีกำไรสุทธิ 2.7 พันล้านบาท ในครึ่งแรกปี 2553 ลดลง 14% จากปีก่อนเนื่องจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้น (เนื่องจากเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการเข้าซื้อกิจการ) และกำไรจากเงินลงทุนที่ลดลง (TCAP รายงานกำไรจากการขายหุ้น TBANK บางส่วนที่ถืออยู่ให้กับ BNS) ในปี 2552 อัตราส่วนเงินลงทุนในบริษัทลูกต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของ TCAP เพิ่มขึ้นเป็น 111% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 จาก 49% ณ สิ้นปี 2552 เนื่องจากการเข้าซื้อกิจการของ SCIB อย่างไรก็ตามอัตราส่วนดังกล่าวน่าจะอยู่ในระดับคงที่ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากบริษัทไม่มีแผนที่จะซื้อกิจการอื่นและยังไม่มีแผนที่จะเพิ่มทุน TCAP ยังคงมีส่วนของผู้ถือหุ้นที่แข็งแกร่งที่ 28.5 พันล้านบาท หรือ 66% ของสินทรัพย์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 เนื่องด้วยสถานะของบริษัทโฮลดิ้ง TCAP ต้องพึ่งพารายได้จากการจ่ายเงินปันผลของ TBANK แต่อย่างไรก็ตามบริษัทน่าจะได้รับประโยชน์จากเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทลูกมีขนาดใหญ่ขึ้นหลังการควบรวม

หลังจากการควบรวมกิจการแล้วเสร็จ ฟิทช์คาดว่าจะยกเลิกอันดับเครดิตอื่นๆของ SCIB

ฟิทช์ปรับเพิ่มอันดับเครดิตต่อไปนี้

ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว เป็น ‘A+(tha)’ จาก ‘A(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น เป็น ‘F1+(tha)’ จาก ‘F1(tha)’

อันดับเครดิตสนับสนุนเป็น ‘3’ จาก ‘4’

บริษัททุนธนชาต จำกัด (มหาชน)

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว เป็น ‘A(tha)’ จาก ‘A-(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น เป็น ‘F1(tha)’ จาก ‘F2(tha)’

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน เป็น ‘A(tha)’ จาก ‘A-(tha)’

ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน)

อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวเป็น ‘BBB-’ จาก ‘BB’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ

อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น เป็น ‘F3’ จาก ‘B’

อันดับเครดิตสนับสนุนเป็น ‘3’ จาก ‘4’

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ‘A+(tha)’ จาก ‘A-(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น เป็น ‘F1+(tha)’ จาก ‘F1(tha)’

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของตราสารหนี้ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน เป็น ‘A(tha)’ จาก ‘BBB+(tha)’

ฟิทช์ได้คงอันดับเครดิตต่อไปนี้

ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) - อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารที่ ‘C/D’

บริษัททุนธนชาต จำกัด (มหาชน) - อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘5’

อันดับเครดิตต่อไปนี้ได้ถูกยกเลิก

ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน)

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารที่ ‘D’

อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำที่ ‘B+’

ติดต่อ

Primary Analyst

นฤมล ชาญชนะวิวัฒน์

Director

+662 655 4763

บริษัท ฟิทช์เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด

55 ถนน วิทยุ ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

Secondary analyst

Vincent Milton

Senior Director

+662 655 4759

กรุงเทพฯ

Committee Chairperson

Jonathan Cornish

Senior Director

+852 2263 9901

ในการจัดอันดับเครดิตของบริษัทฯ นี้ ฟิทช์ได้ใช้หลักเกณฑ์ตาม Global Financial Institution Criteria ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552 Bank Holding Companies ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2552 และ National Ratings-Methodology Update ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549 หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตหาได้ที่ www.fitchratings.com

รายงานที่เกี่ยวข้อง

Fitch Places TCAP, TBANK and SCIB on Rating Watch Positive

รายงานที่เกี่ยวข้อง

Global Financial Institution Criteria

Bank Holding Companies

National Rating — Methodology Update

Fitch Places TCAP, TBANK and SCIB on Rating Watch Positive

หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำและเมื่อมีความต้องการใช้อันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ ‘AAA’ และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น ‘AAA(tha)’ ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้

ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com

การใช้อันดับเครดิตที่จัดทำโดยฟิทช์เรทติ้งส์มีข้อจำกัดและขอบเขตการใช้ ซึ่งข้อจำกัดและขอบเขตของการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวสามารถหาได้จาก HTTP://FITCHRATINGS.COM/UNDERSTANDINGCREDITRATINGS นอกจากนี้คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฎข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ