กรมธนารักษ์ผนึกความร่วมมือกองทัพบกกำหนดตำแหน่งและปักหลักเขต ป้องกันการบุกรุกที่ดินราชพัสดุสวนผึ้ง จ.ราชบุรี

อังคาร ๑๔ กันยายน ๒๐๑๐ ๑๔:๔๕
กรมธนารักษ์ร่วมมือกองทัพบกลงนามบันทึกข้อตกลงสำรวจรังวัดกำหนดตำแหน่ง และปักหลักเขตที่ดินราชพัสดุสวนผึ้ง จ.ราชบุรี เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุก โดยกรมธนารักษ์สนับสนุนงบดำเนินการกว่า 3 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จภายใน 5 เดือน

นายเทวัญ วิชิตะกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นประธานร่วมกับพลเอก ธีระวัฒน์ บุญยะประดับ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ลงนามบันทึกข้อตกลง (Memorandum Of Understanding: MOU) ในการสำรวจรังวัดกำหนดตำแหน่งและปักหลักเขตที่ดินราชพัสดุกรอบนอกตามแผนที่กายภาพที่ได้ทำการสำรวจรังวัด เมื่อปี 2538 แปลงหมายเลขทะเบียนที่ รบ.553 เฉพาะในพื้นที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี โดยมีคณะผู้บริหารและข้าราชการจากทั้งสองฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน

นายเทวัญ วิชิตะกุล ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ รบ.553 ครอบคลุมพื้นที่ของ อ.จอมบึง และ อ.สวนผึ้ง เนื้อที่ประมาณ 500,000 ไร่ โดยมีกองทัพบกเป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ และยังมีส่วนราชการอื่นๆ เข้าใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งสถานที่ทำการ อาทิ โรงเรียน สถานีอนามัย ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ และกรมทางหลวง ซึ่งปัจจุบันพบว่าพื้นที่บางส่วนมีประชาชนเข้าไปบุกรุกครอบครองและเข้าทำประโยชน์เป็นจำนวนมาก และบางส่วนยังไม่ยอมรับว่าเป็นที่ดินราชพัสดุ รวมทั้งยังเข้าไปบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้น

นายเทวัญ กล่าวต่ออีกว่า ด้วยสภาพพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ ทำให้มีข้อจำกัด ในการแก้ไขปัญหา ดังนั้น กรมธนารักษ์จึงร่วมกับกองทัพบกในฐานะผู้ดูแล รักษาและครอบครองใช้ประโยชน์ ในการสำรวจรังวัดกำหนดตำแหน่ง และปักหลักเขตที่ดินราชพัสดุกรอบนอกตามแผนที่กายภาพที่ได้กำหนดสำรวจรังวัด เมื่อปี 2538 พร้อมทั้งให้การสนับสนุนงบประมาณกว่า 3 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินงาน อาทิ งานปักเสาหลักเขตแสดงพื้นที่ราชพัสดุ งานก่อสร้างป้ายแผนที่และประวัติที่ดินราชพัสดุ การมอบต้นไม้เศรษฐกิจให้กับประชาชน เป็นต้น โดยจะดำเนินการในส่วนของพื้นที่ในเขตอำเภอสวนผึ้งก่อน เนื่องจากมีเนื้อที่จำนวนมากถึง 410,000 ไร่ ถูกบุกรุกไปแล้วประมาณ 108,000 ไร่ หรือเกือบร้อยละ 30 ซึ่งการดำเนินการจะแล้วเสร็จภายใน 5 เดือน รวมทั้งจะได้เร่งการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบและเข้าใจอย่างทั่วถึง

สำหรับแนวทางและขั้นตอนแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินราชพัสดุพื้นที่ดังกล่าว ในกลุ่มที่ยังเป็นปัญหา ได้แก่ กลุ่มผู้ขอเช่าเพื่ออยู่อาศัยและทำการเกษตร จะดำเนินการตรวจสอบรังวัดจัดทำแผนที่และพิจารณาตามหลักเกณฑ์การจัดให้เช่า เช่น ไม่เป็นพื้นที่ฝึกของหน่วยทหาร ไม่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ ป่าต้นน้ำลำธาร พื้นที่ลาดชันเกิน 19 องศา หากคุณสมบัติครบถ้วนก็สามารถจัดทำสัญญาให้เช่าได้ ส่วนกลุ่มผู้เช่าเดิม จะมีการตรวจสอบการครอบครองเนื้อที่ ถ้าพบว่ามีการบุกรุกครอบครองเกินเขตเช่าหรือจัดให้เช่าไม่ถูกหลักเกณฑ์ก็จะทำการลดเนื้อที่หรือระงับการต่อสัญญาเช่า สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรีสอร์ท กรณียังไม่ได้เช่าและไม่ยอมเช่า จะทำการรวบรวมหลักฐานและดำเนินคดีต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ