จับเพิ่ม แก๊งค์ลักลอบค้านางอายมูลค่านับแสนบาทที่พัทยา มูลนิธิฟรีแลนด์ขอแสดงความยินดีต่อความสำเร็จของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

พุธ ๑๕ กันยายน ๒๐๑๐ ๐๘:๒๗
เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ค้านางอาย 1 รายที่พัทยาเมื่อวานนี้หลังจากได้รับข้อมูลจากมูลนิธิฟรีแลนด์ โดยผู้ต้องหาถูกจับในข้อหาขายนางอายซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองและสามารถยึดนางอายได้ทั้งหมด 7 ตัวและกระรอกบิน (Sugar Glider) อีก 8 ตัว ซึ่งการจับกุมครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการสืบสวนขยายผลโดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ซึ่งก่อนหน้านี้สามารถจับผู้ค้านางอายได้ 1 รายที่ตลาดนัดจตุจักรเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา

นางอายจำนวนกว่า 10 ตัวถูกช่วยชีวิตไว้ได้ระหว่างการสืบสวนสอบสวนในระยะ 2 เดือนที่ผ่านมานี้ ในจำนวนนี้มีนางอายแคระ (Pygmy Slow Loris) ซึ่งไม่ใช่สัตว์ประจำถิ่นของประเทศไทย อีกทั้งการเพาะพันธุ์ทำได้ยากมาก จึงสะท้อนให้เห็นว่านางอายแคระนี้ถูกลักลอบล่าและขนส่งมาจากประเทศอื่นอย่างผิดกฎหมาย โดยข้อมูลที่มูลนิธิฟรีแลนด์ได้รับพบว่าขบวนการลักลอบค้านางอายข้ามชาตินี้มักแฝงตัวอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยว เช่นที่พัทยาและตลาดนัดจตุจักร เพื่อเสนอขายนางอายให้กับนักท่องเที่ยวทั่วไป

“การจับกุมผู้ค้านางอายครั้งนี้เป็นแม่แบบที่ดีของการประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) เพื่อหยุดยั้งอาชญากรรมการค้าสัตว์ป่า”พ.ต.อ. เกียรติพงศ์ ขาวสำอางค์ รอง ผบก.ปทส.กล่าว “การจับกุมผู้ต้องหาครั้งนี้พิสูจน์แล้วว่าเบาะแสะและความสนับสนุนจากมูลนิธิฟรีแลนด์เป็นสิ่งสำคัญ”

“เราขอแสดงความยินดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สามารถจับกุมผู้ลักลอบค้านางอายได้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควาพยายามของเจ้าหน้าที่ทั้งหลายในการรวบรวมหลักฐานเพื่อมัดตัวผู้กระทำผิดอย่างแน่นหนา” นายสตีเว่น กาลสเตอร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีแลนด์กล่าว “ฟรีแลนด์ช่วยสนับสนุนแผนการทำงานของตำรวจในการขยายผลการสืบสวนและหาจุดเชื่อมโยงจากผู้ค้ารายย่อยที่ตลาดนัดจตุจักรมายังพัทยา ซึ่งยังเชื่อมโยงไปที่ต่างๆอีกด้วย”

หากเจ้าหน้าที่สามารถพิสูจน์ว่าผู้ต้องสงสัยรายนี้กระทำผิดจริง ผู้ค้าสัตว์ป่ารายนี้อาจต้องรับโทษจำคุกนานถึง 4 ปี หรือถูกปรับจำนวนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ฐานค้าและมีสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองและนำเข้าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาต และยังฝ่าฝืนพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ฐานลักลอบนำเข้าของที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง

เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนและจับกุมผู้กระทำผิดอย่างเข้มข้นตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งชุดเจ้าหน้าที่คราวนี้ได้ผ่านการเตรียมความพร้อมจากการเข้ารับการฝึกอบรมกับเครือข่ายอาเซียนเว็น หรือที่เรียกเต็มๆว่าเครือข่ายปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ผิดกฎหมายในภูมิภาคอาเซียน โดยความสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และมูลนิธิฟรีแลนด์ เพื่อต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่าในเชิงรุก

ภูมิภาคเอเชียถูกจัดเป็นศูนย์กลางการค้าสัตว์ป่าที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งการลักลอบค้าสัตว์ป่าเป็นธุรกิจในตลาดมืดที่สร้างกำไรสูงถึงปีละ10-30 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ โดยหน่วยงานภาครัฐได้จัดตั้งเครือข่ายปราบปรามการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ในภูมิภาคอาเซียน หรือที่เรียกว่าเครือข่ายอาเซียนเว็น เพื่อผสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศในการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่คุกคามสัตว์ป่าจนอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์

ข้อมูลเพิ่มเติม

ซื้อนางอายเป็นสัตว์เลี้ยง สนับสนุนความทารุณและอาชญากรรมค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

นางอายเป็นสัตว์ป่าชนิดหนึ่งที่น่าหลงใหลจึงมักถูกจับและลักลอบนำมาขายเป็นสัตว์เลี้ยงอย่างผิดกฎหมายจนอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ นางอายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและออกหากินในเวลากลางคืน มีถิ่นอาศัยอยู่ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแม้นางอายจะได้รับการคุ้มครองภายใต้อนุสัญญาที่มีการลงนามร่วมกันระหว่างหลายร้อยประเทศทั่วโลกแต่นางอายก็ยังถูกจับมาขายจนจำนวนประชากรลดลงอย่างน่าใจหาย ผู้ลักลอบส่วนใหญ่จะมีกลยุทธในการซ่อนนางอายเพื่อให้พ้นจากการตรวจค้น นางอายจำนวนมากตายไประหว่างถูกลำเลียงไปที่ต่างๆ และอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องตายเพราะเจ้าของไม่มีความรู้ในการเลี้ยงสัตว์ป่าชนิดนี้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ขณะนี้นางอายที่ถูกยึดไว้จากการจับกุมครั้งล่าสุดถูกส่งไปอยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช แต่อย่างไรก็ตามนางอายเหล่านี้จะไม่สามารถถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้อีกต่อไป เนื่องจากเขี้ยวของมันถูกนายพรานถอนทิ้งไปทำให้นางอายเหล่านี้สูญเสียความสามารถในการล่าและกินอาหาร รวมไปถึงสูญเสียการป้องกันตัวด้วย

ในประเทศไทยนางอายที่ถูกขายอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวมีราคาประมาณตัวละ 6,400 — 19,200 บาท จากการตรวจยึดนางอายโดยกรมศุลกากรเมื่อไม่นานมานี้พบว่าประเทศญี่ปุ่น รัสเซียและสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดที่มีความต้องการซื้อนางอายมากที่สุด ในปีพ.ศ.2551 เจ้าหน้าที่ท่าอาศยานสุวรรณภูมิสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยชาวรัสเซียซุกซ่อนลูกนางอาย 20 ตัวพร้อมสัตว์คุ้มครองชนิดอื่นๆไว้ในกระเป๋าเดินทางเพื่อพยายามขนออกนอกประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม มูลนิธิฟรีแลนด์เชื่อว่านางอายที่ทางการสามารถตรวจยึดไว้ได้อย่างต่อเนื่องที่ท่าอากาศยานในประเทศไทย ญี่ปุ่นหรือประเทศอื่นๆก็ดียังเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของอาชญากรรมการลักลอบค้านางอายข้ามชาติ

ปัญหาการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายเช่นนางอายนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ซื้อก็มิได้ตระหนักว่านางอายเหล่านี้มาจากไหน ไม่รู้ว่าการซื้อขายนางอายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และไม่รู้ว่าประชากรนางอายในธรรมชาติเหลืออยู่น้อยเต็มทีจนเกือบใกล้สูญพันธุ์ มูลนิธิฟรีแลนด์และองค์กรด้านอนุรักษ์สัตว์ป่าอื่นๆพยายามร่วมกันเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจโดยการทำกิจกรรมกับเด็กนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ และสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อลดความต้องการซื้อสัตว์ป่าทั้งหลาย ให้พวกเขาทั้งหมดเข้าใจว่าการซื้อขายสัตว์ป่ามีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้มูลนิธิฟรีแลนด์ยังได้จัดทำสื่อโฆษณารณรงค์ทางโทรทัศน์ชุด “Wildlife Trafficking Stops Here” โดยแสดงภาพนางอายและสัตว์ป่าชนิดต่างๆที่มักถูกลับลอบค้าและได้รับการเผยแพร่โฆษณาไปทั่วโลกทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นเมื่อปีที่ผ่านมา

นางอายถูกขึ้นบัญชีเป็นสัตว์คุ้มครองและมีสถานะใกล้สูญพันธุ์ทั้งหมด 5 สายพันธุ์ คือ นางอายเบงกอล (Nycticebus bengalensis) นางอายมาเลย์ (Nycticebus coucang) นางอายชวา (Nycticebus javanicus) นางอายบอร์เนียว (Nycticebus menagensis) และนางอายแคระ (Nycticebus pygmaeus) ซึ่งทั้งหมดนี้มีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าฝนเขตร้อนทั่วทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้

ตามบัญชี Red List ของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) ที่จัดทำขึ้นเพื่อแสดงสถานภาพสัตว์ป่าที่ถูกคุกคามได้ระบุว่าจำนวนนางอายในธรรมชาติกำลังลดลง นอกจากนี้นางอายยังเป็นสัตว์คุ้มครองภายใต้อนุสัญญาไซเตสบัญชีที่ 1 ซึ่งห้ามไม่ให้มีการค้าโดยเด็ดขาด

คำบรรยายภาพ: สัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระหว่างตรวจนางอายแคระที่ยึดคืนจากผู้ต้องสงสัยค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและขอไฟล์ภาพคุณภาพสูง กรุณาติดต่อ มุกด์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารสัมพันธ์ มูลนิธิฟรีแลนด์

โทร. 02 204 2719 — 21 หรืออีเมล์ [email protected]

หมายเหตุ

มูลนิธิฟรีแลนด์ เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระดับสากลจัดตั้งขึ้นเพื่อหยุดยั้งการลักลอบค้าสัตว์ป่า อนุรักษ์ผืนป่า และต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยมีพื้นที่ทำงานครอบคลุมทวีปเอเชียผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ คือ โครงการรณรงค์สร้างจิตสำนึกและพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในแต่ละประเทศให้พร้อมสำหรับการปกป้องระบบนิเวศน์ ทรัพยากรสัตว์ป่าและสิทธิมนุษยชน

มูลนิธิฟรีแลนด์ ในฐานะองค์กรหลักที่ดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่ายอาเซียนเว็น ให้ความสนับสนุนแก่เครือข่ายในด้านต่างๆ อาทิ สนับสนุนงานสืบสวน งานฝึกอบรมและงานพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้านต่างๆในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อปราบปรามการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายให้หมดไป

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลนิธิฟรีแลนด์ กรุณาไปที่ www.freeland.org

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version