เตรียมลงพื้นที่สำรวจความเห็นประชาชนจัดทำแผนปรองดอง

พุธ ๑๕ กันยายน ๒๐๑๐ ๑๔:๓๔
พ.ย.นี้ 24 มหาวิทยาลัยภาครัฐ เอกชน เตรียมลงพื้นที่ 96 ชุมชนทั่วกรุงเทพฯ สำรวจความเห็นประชาชน จัดทำแผนปรองดองระดับ กทม. นำสู่การปฏิบัติ คาดใช้เวลาประมาณ 8 เดือน

นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนปรองดองระดับกรุงเทพมหานคร ว่า กทม.ได้มีการหารือร่วมกันระหว่าง 24 มหาวิทยาลัยของรัฐ และเอกชน และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ซึ่งเป็นผู้รวบรวมการทำแผนทั้งหมด โดยขณะนี้มหาวิทยาลัยทั้ง 24 แห่ง ได้จับคู่ทำงานร่วมกัน โดยแบ่งการทำงานในพื้นที่ 6 กลุ่มโซนของกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน หรือ PDA และสมาคมวิจัยการตลาด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการทำแผนชุมชนและการทำวิจัยในเชิงปฏิบัติการ เข้ามาร่วมทำงานด้วยการลงพื้นที่ชุมชน ดูปัญหาพร้อมนำเสนอวิธีการแก้ไข โดยใช้หลักเกณฑ์การทำวิจัยในชุมชน มีการวัดประเมินผลความพึงพอใจในพื้นที่นั้นๆ และจะนำร่อง 2 ชุมชนในเร็วๆ นี้

จากนั้นจะมีการประชุมระดับปฏิบัติการของทั้ง 24 มหาวิทยาลัย เพื่อชี้แจง ทำความเข้าใจกรอบการทำวิจัย และการทำงานเพื่อเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก่อนลงพื้นที่เพื่อทำแบบสอบถามภาคสนาม และทำ Focus Group ใน 96 ชุมชนทั่วกรุงเทพฯ แบ่งเป็น 6 เนื้อหา ประกอบด้วย 1. การเข้าถึงระบบการศึกษาและการพัฒนาเยาวชน 2. การพัฒนาด้านกายภาพ ของชุมชน 3. การแก้ไขปัญหาความยากจน และสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน 4. การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมโดยอำนาจรัฐ 5. การเข้าถึง ทรัพยากรของรัฐ 6. ความเหลื่อม ล้ำในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งขณะนี้ได้มีแต่งตั้งคณะทำงานแล้ว 2 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการอำนวยการ มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน และคณะทำงานมี ดร.วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ซึ่งจะลงชุมชนในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษาวิจัยประมาณ 8 เดือน

ด้าน ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ อาจารย์คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาแผนยุทธศาสตร์เพื่อการปรองดองภายในเขต กทม. เปิดเผยหลังหารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร 24 มหาวิทยาลัย ว่า การทำงานวิจัยเพื่อเสริมสร้างแผนปรองดองในกรุงเทพมหานครนี้เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยจำนวน 24 แห่ง และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยแบ่งงานกันในการไปศึกษาเชิงลึกในชุมชนทั้ง 5 ประเภท อาทิ ชุมชนแออัด เคหะชุมชน ชุมชนในเมือง และชุมชนชานเมือง จำนวน 96 ชุมชน กระจายไปในพื้นที่ 6 โซนของกรุงเทพฯ โดยมุ่งประเด็นการศึกษาไปที่การรับรู้และหาทางออก ในสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา ความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ การได้รับบริการสาธารณะ บริการพื้นฐาน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยนักวิจัยจะเข้าไปทำการศึกษาเชิงลึกกับบุคคลทุกเพศ ทุกวัยในชุมชน เพื่อหาความคิดเห็นร่วมกันให้คนในชุมชนช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด และให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เข้ามาเติมเต็มในส่วนที่จำเป็นซึ่งจะส่งผลให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการ ดูแลตัวเองได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ โดยสามารถนำความรู้ประสบการณ์ความสำเร็จของชุมชนอื่น บุคคลอื่นมาเป็นแนวทางประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชุมชน ซึ่งหากผลการศึกษาที่เกิดขึ้นเป็นที่น่าพอใจทางมหาวิทยาลัยจะได้มีการทำงานสานต่อกับชุมชนในพื้นที่อย่างกว้างขวางต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๓:๒๔ แจกจริง! แบรนด์ซุปไก่สกัดส่งมอบรถเทสล่า มูลค่า 1.649 ล้านบาท ให้ผู้โชคดี ในแคมเปญ ดื่มแบรนด์ สแกนเลขในขวด ปี
๑๓:๕๐ GFC ตอบโจทย์ทุกความปลอดภัยเรื่องอาคาร - ถังแช่แข็งตัวอ่อน เปิดให้บริการสำหรับผู้มีบุตรยากตามปกติครบ 3
๑๓:๕๗ KJL ลุยภาคใต้! จัดใหญ่สัมมนา 'รวมพลคนไฟฟ้า ON TOUR' ที่ภูเก็ต
๑๒:๐๐ แว่นท็อปเจริญ จับมือ กรมกำลังพลทหารบก แนะแนวการศึกษาและอาชีพ สร้างโอกาสแก่ทหารกองประจำการและครอบครัว
๐๒ เม.ย. AnyMind Group คว้ารางวัล Gold ในงาน Martech Innovation Awards 2025
๐๒ เม.ย. โชว์พลังดีไซน์ไทยในงาน STYLE Bangkok 2025 รวมแบรนด์ดาวรุ่งจาก Talent Thai และ Designers' Room ที่คุณไม่ควรพลาด
๐๒ เม.ย. ธนาคารกสิกรไทย จัดสัมมนาใหญ่ K WEALTH Forum: เจาะลึก 5 ปัจจัยเปลี่ยนเกมการลงทุนโลก
๐๒ เม.ย. PSP ปิดดีลทุ่ม 409.5 ลบ. ถือหุ้นใน รีไซเคิล เอ็นจิเนียริ่ง (RE) ปักหมุดธุรกิจสู่ศูนย์กลางรีไซเคิลสารเคมีแห่งภูมิภาค
๐๒ เม.ย. กลุ่มซีไอเอ็มบี เปิดรับสมัครสอบชิงทุน CIMB ASEAN Scholarship 2025 ทุนเรียนต่อปริญญาตรี - ปริญญาโท พร้อมโอกาสร่วมงานกับกลุ่มซีไอเอ็มบี
๐๒ เม.ย. ศูนย์การค้าเครือเอ็ม บี เค เปิดพิกัดจุดสรงน้ำพระ เสริมสิริมงคลกับเทศกาล สงกรานต์อิ่มบุญ